svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ดีแทค – ทรู จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

22 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข่าวการควบรวมระหว่าง กลุ่มเทเลนอร์ กับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่สุดในปี 2564 ไม่เพียงเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีมูลค่ามหาศาล หากการผนึกกำลัง ของเบอร์ 2 กับ เบอร์ 3 ได้สั่นสะเทือนทั่วประเทศ ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคจำนวนมาก

การเซ็น MOU พร้อมประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปรากฎการณ์ของสองยักษ์ใหญ่ค่ายมือถืออันดับ 2 และ 3 ของประเทศ หันมาจับมือกันทำธุรกิจ เกี่ยวพันกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือร่วม 51 ล้านเลขหมาย จึงทำให้ทุกคนจับตามอง

 

มีหลายหน่วยงานออกมาแสดงความเห็นต่างๆ นานา ร่วมถึงวิตกกังวล และเรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลการควบรวมกิจการครั้งนี้  

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

ด้าน “ผู้บริโภค” ก็มีความเคลื่อนไหว ขยักแรกที่ประชาชนส่งสัญญาณแสดงถึงความกังวลใจในการผนึกกำลังนี้คือ “การย้ายค่าย”  ซึ่งกลายเป็นประเด็นดรามา เมื่อ โอเปอเรเตอร์ (ค่ายมือถือ) ใช้แพทริคโน้มน้าวใจ เสนอข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมเพื่อรักษาลูกค้า แต่เมื่อคนจะไป รั้งยังไงเขาก็ไม่อยู่ การประวิงเวลาแม้เพียงไม่กี่นาที ไม่กี่วัน จึงกลายเป็นการยื้อฉุด และการสกัดกันไปเสียอย่างนั้น ร้อนถึง กสทช. ต้องออกมา ประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหลักเกณฑ์การโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กันอีกครั้ง

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

มีอะไร? ในการควบรวมกิจการ DTAC - TRUE

หลังจาก วันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ ดีแทค และ ทรู ส่งหนังสือชี้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมกันถึงมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ทั้ง 2 บริษัทเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ควบบริษัทระหว่างกัน และรับทราบความประสงค์ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer)

 

ตั้งบริษัทใหม่  และ กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) โดยมีจำนวนหุ้นบริษัทใหม่ที่ 138,102 ล้านหุ้น

 

จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของ ดีแทค และผู้ถือหุ้นของ ทรู ในอัตราส่วน

  • 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
  • 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่

 

ซึ่งอัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกำหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด จำนวน 138,208,403,204 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

 

ทรูมีหุ้นมากกว่าดีแทค

หลังรวม ผู้ถือหุ้น ทรู และ ดีแทค จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ใน สัดส่วน 57.9%  และ  42.1%

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

สู่อนาคต ยกระดับเทคโนโลยี

ดีแทค - ทรู  ผนึกกำลัง ปรับโครงสร้างองค์กร จาก โทรคมนาคม (Telecom) สู่การเป็น บริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company

 

บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น กองทุนมูลค่าประมาณ 100 - 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,200-6,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (digital startups) เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0  ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้น และการพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่อนาคต ดังนี้ 

หลังการควบรวมจะเน้นไปที่การลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

  • ด้านเทคโนโลยี 5G
  • ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
  • ระบบคลาวด์เทคโนโลยี (Cloud)
  • ไอโอที (IoT)
  • อุปกรณ์อัจฉริยะ
  • เมืองอัจฉริยะ
  • ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น (Digital Media Platform)
  • ปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย
  • มีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ

 

โดยคาดว่าบริษัทใหม่จะมีขนาดที่ใหญ่ จะมีรายได้ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) ราว 83,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ราว 40% ใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่ อย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่อุตสาหกรรม

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

อนาคตธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย

ในปีนี้การร่วมมือกันขององค์กรระดับบิ๊กประเทศไทย เห็นกันถี่ขึ้น เป็นผลเนื่องมาจาก Technology disruption และต่างมุ่งก้าวไปสู่การเป็น Tech Company

 

แม้การผนึกกำลังของ เบอร์  2 เบอร์ 3 หากแต่รูปการณ์ไม่ได้เหนือคู่แข่ง หรือสามารถโค่นล้มเบอร์ 1 ได้เสียทีเดียว เพราะตอนนี้มาร์เก็ตแชร์เอไอเอสใหญ่มาก หลังจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ นั่นคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน)

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้น - งบการเงิน "ดีแทค" และ "ทรู"

 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุด ของ ดีแทค ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 อันดับแรกที่ถือหุ้นสูงสุด ประกอบด้วย

  1. TELENOR ASIA PTE LTD จำนวนหุ้น1,086,052,874 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 45.87%
  2. บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวนห454,120,293 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 19.18%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 201,245,921 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 8.50%
  4. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จำนวน 134,645,450 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.69%
  5. สำนักงานประกันสังคม จำนวน 89,404,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.78%

 

งบการเงิน "ดีแทค" ณ ไตรมาส 3/2564 ดังนี้

  • สินทรัพย์รวม จำนวน  169,195.71  ล้านบาท
  • หนี้สินรวม จำนวน 149,200.93   ล้านบาท
  • รายได้รวม จำนวน 59,855.12  ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ  จำนวน 3,184.86  ล้านบาท

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

"ทรู" ผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

  1. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  จำนวน 5,951,401,786 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 17.84%
  2. CHINA MOBILE INTERNATIONAL HOLDINGS LIMITED จำนวน 4,495,868,474 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.47%
  3. UBS AG HONG KONG BRANCH จำนวน 3,065,717,853 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.19%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 1,835,822,611 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.50%
  5. CHINA MOBILE INTERNATIONAL HOLDINGS LIMITED จำนวน 1,510,489,392 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.53%

 

"ทรู" งบการเงินและผลประกอบการ ณ ไตรมาส 3/2564

  • สินทรัพย์รวม  621,777.35  ล้านบาท
  • หนี้สินรวม    539,941.01 ล้านบาท
  • รายได้รวม     103,177.24  ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ (ขาดทุนสุทธิ)  -1,482.76   ล้านบาท

 

เมื่อรวมรายได้ของ ดีแทค และ ทรู อยู่ที่ 163,032 ล้านบาท มากกว่า AIS ที่มีอยู่ 132,020 ล้านบาท

 

 

จำนวนลูกค้า

  • ดีแทค มีจำนวน 19.3 ล้านเลขหมาย 
  • ทรูมูฟ เอช มีจำนวน  32 ล้านเลขหมาย
  • หากรวมทั้งสองบริษัทมีลูกค้าทั้งสิ้น  51.3 ล้านเลขหมาย 
  • มากกว่า เอไอเอส ที่มีผู้ใช้บริการจำนวน 43,657,900 เลขหมาย

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

ดีแทค  – ทรู ควบรวม “คนไทยได้-เสีย อะไรบ้าง”

 

จากการเซ็น MOU ร่วมมือกันระหว่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับ กลุ่มเทเลนอร์ ส่งผลแก่ผู้ให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 ราย ปรากฏการณ์จากดีลนี้ส่งผลกระทบอะไรกับผู้บริโภคบ้าง ทั้งด้านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) จะต้องมีท่าที เคลื่อนไหวอย่างไร

 

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กสิกรไทย ได้แสดงความเห็นในหลากหลายแง่มุมที่ส่งผลต่อผู้บริโภคไว้น่าสนใจ ในรายการ “The Daily Life” ทางช่องเนชั่นออนไลน์ ดำเนินรายการโดย "ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า"

 

ทางเลือกที่เหลือน้อยของผู้บริโภค

“การควบรวม ถ้าเป็นธุรกิจประเภทอื่นๆ อย่าง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือโรงพยาบาล ควบรวมกันยังไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ เพราะยังมีทางเลือกอีกเยอะ แต่ธุรกิจสื่อสาร เป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะ กึ่งๆ ไฟฟ้า น้ำประปา

 

บางคนยังเข้าใจผิดว่า ไฟฟ้า ประปา ก็ผูกขาด แต่นี้เป็นรัฐวิสาหกิจ เขายอมที่จะกำไรน้อย หรือยอมขาดทุนได้ เพราะว่าเขาเป็นบริษัทที่ถือร้อยเปอร์เซ็นต์โดยรัฐ ไม่ได้มีหน้าที่ทำกำไร หน้าที่ของเขา คือการให้บริการแก่ประชาชน แต่เอกชนเป้าหมายหลัก คือทำกำไรสูงสุด ไม่เหมือนกันครับ กสทช. หรือองค์กรรัฐ หรือภาคเอ็นจีโอ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อจากนี้ไปต้องทำงานหนักขึ้น

 

ผมไม่อยากให้พวกเรามองผู้ประกอบการเอกชนเป็นปีศาจทั้งหมดนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้เขาต้องปฏิบัติตามกฎใหม่ ที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social, and Governance) ต้องมีสิ่งที่เขาจะต้องทำเพื่อคืนแก่สังคม ตัวกำไรสูงสุดก็คงจะต้องทำอยู่ แต่ว่าไม่ใช่กำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม จริยธรรม ภาคสังคมเลย

 

ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เรากลัว สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการลดราคาแบบหนักๆ แบบในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง แค่การลดราคาลดลงเทียบกับปริมาณการใช้งานของคนที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ แค่นี้รายได้ของเขาก็โตแล้ว”

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

ปี 64 เป็นปีแห่งการควบรวม

ถ้าดูจากต้นปีมีการควบรวมมาตลอด เฉพาะในตลาดอาเซียน มี 4-5 ดีล อย่างมาเลเซีย  INTUCH ( อินทัช โฮลดิ้งส์) กับ GULF  (กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์)  หรือที่อินโดนีเซีย ก็มีบริษัทเอเชียต้า (Axiata)  ตามมาที่อินโดนีเซีย ล่าสุดก็เป็นคิวของบ้านเรา เบอร์  2 กับ เบอร์ 3

 

ความสามารถในการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำลงเรื่อยๆ ถ้าดูย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนโควิด รายได้ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ำ โตแพ้จีดีพี ขณะเดียวกันต้องลงทุนทั้งเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ เรื่องของการขยายโครงข่ายโครงข่ายจาก 4G เป็น 5G แล้วก็แย่งช่วงชิงลูกค้า ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างต่ำ

 

บางทีเราอาจจะไปสนใจอยู่ที่รายได้ รายได้เยอะจริง ทั้งอุตสาหกรรมน่าจะ 3-4 แสนล้าน แต่กำไรนอกจากรายใหญ่แล้วเบอร์  2 ทุน เบอร์ 3 ก็กำไรเหลืออยู่แค่ 3-5 พันล้านต่อปี ขณะเดียวกันต้องลงทุนปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน

 

จุดนี้ก็ทำให้ความน่าสนใจของผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจต่อลดลง  พอความน่าสนใจลดลง เขาก็ต้องคิดว่าเขาจะขยายตลาดไปต่างประเทศดีไหม หรือว่าเขาจะขยายธุรกิจแนวข้าง แล้วก็แนวดิ่ง ไหวไหม ถ้าทำ 2 อย่างนี้ไม่ได้ก็ลดจำนวนผู้เล่นในตลาดดีกว่า เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน”

 

เมืองไทยผู้คุมกฎขาดประสบการณ์

“แต่ละประเทศมีกฎหมายที่เข้มงวด การควบรวมกิจการก็ทำได้ยาก อย่างในอเมริกา สแกนดิเนเวีย ก็ทำได้ลำบาก เพราะว่าตัวผู้ที่คุมกฎเองเขาค่อนข้างจะแข็งแรง แล้วก็ยึดในหลักของการแข่งขันที่สมบูรณ์ หลายๆ ดีล ที่เห็นขึ้นมาไม่ผ่าน ต้องไปกลับไปแข่งกันใหม่

 

ก็ต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์ของบ้านเรา ผู้คุมกฎไม่ค่อยมีประสบการณ์เรื่องการจัดการการควบรวมกิจการ เพราะมันไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บ้านเราไม่ค่อยได้เกิด การเกิดขึ้นทีหนึ่งก็ใหญ่เหลือเกิน ผมคิดว่าด้วยมีประสบการณ์น้อย โอกาสที่จะกำกับดูแลได้ไม่ทั่วถึง หรือไม่ครบถ้วน”

 

อำนาจเหนือตลาด กับ ผลประโยชน์ของผู้บริโภค

กสทช.ต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลระหว่างผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด กับผลประโยชน์ของผู้บริโภค มีวิธีการมากมายที่จะไปกำกับดูแล อย่างเช่น ต้องไปดูเรื่องของต้นทุน ไปดูเรื่องของราคาขาย ดูเรื่องของคุณภาพบริการ  ผมว่า กสทช.มีหน่วยงานหรือทีมงานที่จะดูแลเรื่องพวกนี้อยู่แล้วนะครับ

 

ทางเลือก กสทช. มี 2 ทาง  คือ ทางที่ 1 มุ่งเน้นไปที่บริการใหม่ที่เรียกว่า MVNO (Mobile Virtual Network Operator)  อันนี้เราเห็นเยอะเหมือนกันในตลาดสิงคโปร์ และมาเลเซีย คือไม่ต้องสร้างโครงข่ายเอง ซื้อ Capacity ซื้อ Deta มาจากผู้ประกอบการได้ในราคาขายส่ง แล้วมาขายต่อผู้บริโภคในราคาขายปลีก

 

วิธีการที่ 2 คือทำแบบที่สิงคโปร์ หรือฟิลิปปินส์ ให้มีการออกใบอนุญาต ตอนนี้มีคลื่นเหลืออยู่ 1008 ก็เหลืออยู่ คลื่น 3500 คลื่น 850 ที่จะดึงคืนมาจากดีแทค ก็เอาคลื่นที่เหลืออยู่ออกมา ให้รายใหม่เข้า ให้ตรงนี้ไปในราคาถูก แล้วให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดเปิดโครงข่าย ให้บริษัทใหม่เข้ามาร่วมใช้งานในราคาต้นทุนที่สมเหตุสมผล อันนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เห็นที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ทำอยู่

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เงินเยอะ แล้วประเทศเราไม่ได้เล็กๆ เหมือนสิงคโปร์ ลองคิดดูถ้าผู้ประกอบการรายใหม่มีโครงข่ายที่ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ  ก็สู้ยาก เคยเห็นเหตุการณ์มาแล้ว อย่างเช่น  ฮัทชิสัน ที่มีพื้นที่ให้บริการแค่ 25 จังหวัด ต่อให้ของดีราคาถูกแต่โครงข่ายน้อย ผู้บริโภคก็ไม่เอา ไปต่อไม่ได้”

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

ผลกระทบของการควบรวม                              

หวั่นผลกระทบโครงสร้างตลาดโทรคมนาคม และการแข่งขันทางการค้า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 87 คน ได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรู และดีแทค โดยในแถลงการณ์มีใจความบางส่วนระบุให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลการควบรวมกิจการครั้งนี้

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

แม้การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแข่งขัน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การลดลงของการแข่งขันจะเพิ่มต้นทุนและลดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของประชาชน

 

นอกจากนี้ การควบรวมกิจการครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการดิจิทัล (digital companies) ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (startups) และผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ (digitization) ซึ่งล้วนแต่อาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยรวม

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

ติดตามตอนต่อไป ปี 2565

ดีลระหว่าง ดีแทค และ ทรู จะเดินหน้าต่อไป ถึงแม้ว่า กสทช. จะมีประกาศสองฉบับเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และประกาศการกำกับการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม แต่เนื่องจากมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.  การควบรวมน่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะทีมกฎหมายคงศึกษาข้อมูลมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างดีแล้ว

 

โดย “ซิกเว่ เบรกเก้” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ ได้เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน โดยเทเลนอร์ กรุ๊ปและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี)ได้เข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท

 

ขั้นตอนต่อจากนี้ไป จะเข้าสู่กระบวนการตวจสอบวิเคราะห์ สถานะทางธุรกิจ (Due Diligence) คาดว่าจะจบได้ในไตรมาส 1/2565

 

จากนั้นในไตรมาส 2/2565 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป เพื่อรวมกิจการทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน

 

 

ดีแทค – ทรู  จับตา “ควบรวม” เขย่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 

อ้างอิง

 

 

 

logoline