svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

21 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” ดาวร้ายตัวใหม่ที่น่าจับตามอง จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” เจ้าของฉายา “โอมิครอนล่องหน” ดาวร้ายตัวใหม่ที่น่าจับตามอง จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังพบแพร่เร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก “ตัวแม่ BA.1” ถึง 30-40% 

 

นักวิทย์ทั่วโลกกังวลมากขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อใน 74 ประเทศทั่วโลก และมีอย่างน้อย 10 ประเทศที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว ได้แก่ บังกลาเทศ, บรูไน, จีน, เดนมาร์ก, กวม, อินเดีย, มอนเตเนโกร, เนปาล, ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเดนมาร์ก พบจำนวนผู้เสียชีวิตกำลังพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทั่วโลก!!

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อแล้วถึง 47 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) คาดว่ามีผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาแล้วประมาณ 4%

 

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่หลากหลายเกี่ยวกับความรุนแรงของ “BA.2” ในโลกแห่งความเป็นจริง การรักษาในโรงพยาบาลลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศที่ “BA.2” เริ่มเป็นสายพันธุ์หลัก เช่น แอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักร

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานระบุว่า ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโอมิครอน “ตัวแม่ BA.1” สูงถึง 30% แต่การฉีดบูสเตอร์จะช่วยกระตุ้นการป้องกัน ทำให้การเจ็บป่วยหลังการติดเชื้อมีโอกาสน้อยลง 74%

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

ดร.แดเนียล โรดส์ หัวหน้าแผนกจุลชีววิทยาของคลีฟแลนด์คลินิกในโอไฮโอ ประเมินผลการศึกษาโดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า จากมุมมองของมนุษย์ อาจเป็นไวรัสที่แย่กว่าโอมิครอน “ตัวแม่ BA.1” และอาจแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นและทำให้เกิดอาการของโรคที่เลวร้ายกว่าเดิม

 

Dr. Rochelle Walensky ผู้อำนวยการศูนย์ย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่า “BA.2” จะรุนแรงกว่า “ตัวแม่ BA.1” ยังคงต้องตรวจสอบสายพันธุ์ที่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องติดตามข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรคในมนุษย์และผลการวิจัยจากเอกสารลักษณะนี้ที่ดำเนินการในห้องปฏิบัติการ

 

ผลการวิจัยในญี่ปุ่นที่ทดลองกับหนูในห้องแล็บพบว่า สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายจากการฉีดวัคซีนรวมทั้งภูมิคุ้มกันจากที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ยังสามารถก๊อบปี้เพิ่มจำนวนเซลล์ได้เร็วกว่าโอมิครอน “ตัวแม่ BA.1” และยังทำให้เกิดเซลล์ติดกันเป็นก้อนได้เก่งกว่า หรือที่เรียกว่า syncytia ทำให้ปอดเสียหายถูกทำลายได้มากกว่า และพบว่าอาจทำให้ป่วยหนักกว่า โอมิครอน “ตัวแม่ BA.1” แถมยังมีอาการป่วยรุนแรงพอๆ กับโควิดสายพันธุ์ร้ายก่อนหน้ารวมทั้งสายพันธุ์ “เดลตา”

 

นักวิจัยในญี่ปุ่นยังพบว่า เมื่อใส่เชื้อโอมิครอน BA.2 และ BA.1 ในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.2 มีอาการป่วยหนักกว่าและการทำงานของปอดแย่ลงมากกว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.1 เพราะปอดถูกทำลาย เกิดการอักเสบมากกว่า

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

 

จากผลการวิจัย ยังพบว่า โอมิครอน “BA.2” สามารถทะลุทะลวงแอนติบอดีในเลือดจากการฉีดวัคซีนต้านโควิดได้ รวมทั้งการรอดพ้นจากแอนติบอดีในคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนหน้า ทั้งสายพันธุ์อัลฟา และเดลตา นอกจากนั้นยังเกือบจะต้านการรักษาโดยใช้ยา 'โมโนโคลนอล แอนติบอดี' ได้อย่างสิ้นเชิง

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ยังเป็นความหวัง เมื่อนักวิจัยพบว่าแอนติบอดีในเลือดของคนที่เพิ่งติดเชื้อโอมิครอน ดูเหมือนสามารถต้านโอมิครอน “BA.2” ได้ โดยเฉพาะคนที่ติดเชื้อโอมิครอนคนนั้นเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

 

สิ่งที่นักวิจัยกำลังเฝ้าจับตาด้วยความกังวลในขณะนี้ คือ โอมิครอน “BA.2 “จะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ ขณะที่สาธารณสุขไทยจะเอาอยู่หรือไม่ หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด 

มาทำความรู้จักโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2”

 

 

logoline