svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ก.พาณิชย์ ขึ้นทะเบียน GI "ครกหินแกรนิตตาก - เผือกหอมบ้านหมอ"

19 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น่ายินดี! กระทรวงพาณิชย์ประกาศขึ้นทะเบียน GI "ครกหินแกรนิตตาก - เผือกหอมบ้านหมอ" เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน ตั้งเป้าปี 65 เตรียมขึ้นบัญชีอีก 18 รายการ

     วันนี้ (19 ก.พ.) นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า “ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าทำงานเชิงรุกขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI เพิ่มอีก 2 รายการ คือ “ครกหินแกรนิตตาก” ของจังหวัดตาก และ “เผือกหอมบ้านหมอ” ของจังหวัดสระบุรี

 

     ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตในท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมให้มีการรักษาคุณภาพผ่านระบบคุณภาพมาตฐานสินค้า GI ทำให้สร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI เป็นมูลค่า 40,000 ล้านบาท    

 

 

 นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์
 

     สำหรับ "ครกหินแกรนิตตาก" เป็นผลิตภัณฑ์จากหินแกรนิตในจังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า โดยครกจะมีรูปทรงเป็นทรงกลม มีขอบด้านข้างใช้สำหรับจับหรือยก ผลิตด้วยเครื่องมือที่ทำให้ได้รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้มาตรฐาน แข็งแรงทนทาน ไม่เปราะ ไม่กะเทาะหลุดง่าย

 

 

"ครกหินแกรนิตตาก"

 

 

     ส่วน "เผือกหอมบ้านหมอ" ปลูกในจังหวัดสระบุรีครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด และอำเภอหนองโดน เป็นเผือกหอมมีหัวขนาดใหญ่ สายพันธุ์เผือกหอมเชียงใหม่หรือเผือกหอมพิจิตร เนื้อเผือกมีสีขาวอมม่วงอ่อน มีเส้นใยสีม่วงกระจายทั่วหัว เมื่อนำมานึ่งหรือต้มเนื้อเผือกจะร่วนซุย และมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษกว่าเผือกหอมทั่วไป  

 

 

"เผือกหอมบ้านหมอ"
 

     นายสินิตย์ กล่าวว่า ในปี 65 นี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งเป้าหมายในการขึ้นทะเบียน GI อีกจำนวน 18 รายการ อาทิ  ผ้าไหมสาเกต จังหวัดร้อยเอ็ด  สับปะรดศรีเชียงใหม่ ผ้าตีนจก  โหล่งลี้ลำพูน และมะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ เป็นต้น 

 

     ส่วนสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI เพื่อรักษามาตรฐานสินค้า GI ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาด ช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

logoline