svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยุทธศาสตร์โค้งสุดท้าย 5 พรรคชิงหลักสี่-จตุจักร

28 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับถอยหลังเหลือเวลาอีก 2 วันสุดท้าย ก็จะถึงวันหย่อนบัตรชี้ชะตา หา ส.ส.ใหม่ของพื้นที่กรุงเทพมหานครเขต 9 "หลักสี่ จตุจักร" ดังนั้น ลองไปดูกันว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองหลักๆ ที่คอการเมืองมองเป็นตัวเต็งนั้่น มียุทธศาสตร์การหาเสียงอย่างไร 

เริ่มจาก "เพชร" กรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ซึ่งวานนี้ยังคงเดินหน้าโจมตีรัฐบาล โดยการโหนกระแส "ได้กลิ่นปฏิวัติ" ของผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยย้ำว่า "ข้ออ้างการทำรัฐประหารเพื่อปราบโกงนั้นไม่มีจริง เพราะอันดับความโปร่งใสของประเทศลดลงเรื่อยๆ" พร้อมสำทับว่ารัฐบาลชุดนี้ "ยิ่งอยู่นาน ยิ่งล้มเหลว" 

 

ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์หลักของผู้สมัครพรรคก้าวไกล คือ โจมตีรัฐบาล ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และขายแนวคิดใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่เว้นแม้แต่การขายไอเดียปฏิรูปกองทัพ ขณะปราศรัยในเขตทหาร 

 

ข้างฝ่ายพรรคเพื่อไทย นอกจากจมูกดีได้กลิ่นรัฐประหารแล้ว ล่าสุดยังแสดงบทบาท "ในนามพรรค" ในการเลือกตั้งซ่อมหนนี้ โดยในวันนี้ จะขน "ทัพหลวง" ลงพื้นที่สวนสาธารณะเคหะชุมชนหลักสี่ ขึ้นเวทีปราศัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนถึงวันหย่อนบัตร 

 

แกนนำพรรคที่จะขึ้นเวทีเป็นแนว "ผสมผสาน" คือ "เพื่อไทยแท้" กับ "เพื่อไทยสร้างไทย" หมายถึง กลุ่ม ส.ส.ที่ใกล้ชิดกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ลาออกไปทำพรรคไทยสร้างไทย เพราะมีทั้ง หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค  จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ซึ่งใกล้ชิดกับคุณหญิงหน่อย ประธานพรรคไทยสร้างไทย

 

นอกจากนี้ ยังมีขุนพลระดับ "แคนดิเดตหัวหน้าพรรค" อย่าง สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน รวมอยู่ด้วย ทั้งยังมีอดีต ส.ส.เกรดเอ ภาพลักษณ์ดีอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง ที่เพิ่งกลับมาร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยไม่นานมานี้

หัวข้อที่จะปราศรัยสำหรับเพื่อไทยถือว่าน่าสนใจ เช่น "เพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน" เป็นประเด็นปราศรัยของสุทิน และ "ตอกฝาโลงพลังประชารัฐ" เป็นประเด็นปราศรัยของจาตุรนต์ งานนี้จึงต้องบอกว่าจัดหนักจัดเต็ม  เพราะยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย คือ การเอาชนะ เพื่อ "เอาฤกษ์เอาชัย" นำไปขยายต่อว่า ตัวเองจะแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งใหญ่ 

 

การตัดสินใจส่ง ส.ส.สู้ศึกเลือกตั้งซ่อม แค่เขตเดียว จาก 3 เขต ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยต้องการชนะเท่านั้น หากแพ้ จะเสียชื่อ เสียรังวัด เหมือนที่พลังประชารัฐกำลังโดน หลังจากแพ้ที่สงขลา และชุมพร ซึ่งการตัดสินใจเลือกส่งที่หลักสี่ เพราะครั้งที่แล้ว แพ้ไม่มาก แค่ไม่ถึง 3,000 คะแนน แถมแพ้แบบค้านสายตา ประกอบกับสถานการณ์ของรัฐบาลย่ำแย่ เจอปัญหารุมเร้า จึงคิดว่าคะแนนจะเหวี่ยงกลับมาทางฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย

 

ยุทธศาสตร์โค้งสุดท้าย 5 พรรคชิงหลักสี่-จตุจักร

 

 

ขณะที่พรรคไทยภักดี จุดยืนชัดคือ เชิดชูสถาบัน เป้าหมายคะแนนเสียงคือคนรุ่นใหญ่ คนสูงอายุ และคนอยู่ติดบ้าน ล่าสุด หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค งัดแท็กติกหาเสียงโค้งสุดท้าย ด้วยการส่งจดหมาย 20,000 ฉบับ อ้อนขอคะแนนจากชาวจตุจักร-หลักสี่ โดยแยกเป็น 10,000 ฉบับส่งทางไปรษณีย์ ส่วนอีก 10,000 ฉบับ แจกถึงมือขณะลงพื้นที่หาเสียง 

 

อีกคนที่ต้องจับตา คือ "เอ๋ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" ผู้สมัครจากพรรคกล้า ล่าสุดไปกราบขอพร ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าของฉายา "โฆษกสามสี" หรือ "สามสี ภูเขาทอง" อดีต ส.ส.รุ่นลายคราม และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงของพรรคประชาธิปัตย์ และยังเคยเป็นโฆษกรัฐบาลด้วย

 

จังหวะก้าวของ "เอ๋ อรรถวิชช์" ชัดเจนในยุทธศาสตร์ คือ หวังรับโอนคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มร้อย เพราะพรรคไม่ส่งผู้สมัครในครั้งนี้ การเข้าขอพรจาก ดร.ไตรรงค์ ก็เพื่อส่งสัญญาณถึงแฟนคลับตัวจริงของพรรคประชาธิปัตย์ว่าให้เทคะแนนมาที่พรรคกล้า 

 

โดยก่อนหน้านี้อรรถวิชช์ ใช้เทคนิคนี้เพื่อดึงคะแนนจากหลายกลุ่มก้อน 

 

1.คะแนนที่เคยเลือก "อดีตผู้การแต้ม" พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 62 ได้ไป 16,255 คะแนน 

 

2.ดึงทีมหัวคะแนน ประธานชุมชน และอดีต ส.ก.ในพื้นที่ ทั้งของตัวเองสมัยเป็น ส.ส. และของ สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเพิ่งลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น ชัดเจนว่าคะแนนของสกลธี จะไม่โอนไปที่ "มาดามหลี" ผู้สมัครของพลังประชารัฐ

 

3.การที่สกลธี ยังมีตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. อาจทำให้อรรถวิชช์ ได้เปรียบเพิ่มขึ้นบ้าง

 

4.กลุ่มแกนนำ กปปส. ส่งสัญญาณเทคะแนน จากการโพสต์เฟซบุ๊กของ "ขิง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" อดีตโฆษก กปปส. 

 

หลายคนนึกถึงโมเดลที่อดีตแกนนำ กปปส. ทยอยกันโพสต์สนับสนุน "อดีต ส.ส.ลูกหมี" ชุมพล จุลใส ช่วงเลือกตั้งซ่อม เขต1 ชุมพร ทำให้คนของคุณลูกหมีลอยลำ ชนะขาดลอย นี่อาจเป็นสัญญาณเดียวกัน 

 

สำหรับอรรถวิชช์ ถือว่ามีเดิมพันสูงสุดในการเลือกตั้งซ่อมสนามนี้ เพราะเป็นผู้บริหารพรรคกล้า เป็นถึงระดับเลขาธิการพรรค ถือว่าเป็นเบอร์ใหญ่สุดของผู้สมัครจากทุกพรรค ฉะนั้นหากพ่ายแพ้ ย่อมส่งผลต่อพรรคด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ปิดท้ายกันที่ "มาดามหลี" สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ชัดเจนเรื่องปราศรัยใหญ่รอบสุดท้ายของพรรค แต่หลายคนให้จับตาลีลา "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" หรือ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษฺ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ว่าจะมีไม้เด็ดอะไรในช่วงนี้หรือไม่ หลังจากควงแขนลงพื้นที่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ และสร้างกระแสฮือฮาด้วยการชูผลงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และโครงการพัฒนาพื้นที่หลักสี่-จตุจักร ของรัฐบาล โดยเฉพาะ "โครงการบ้านมั่นคง" และ "โครงการปรับภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองเปรมประชากร"

logoline