svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โค้งสุดท้ายเลือกซ่อมจตุจักร-หลักสี่...ใครปัง-ใครพัง?

25 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะ "ศึกใน" ของพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวของแพง สินค้าพาเหรดขึ้นราคา ส่งผลกระทบถึงการเลือกตั้งซ่อมอีก 1 สนาม ที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ กทม.เขต 9 "หลักสี่-จตุจักร”

ปัญหาภายในพลังประชารัฐ ซึ่งสะเทือนทั้งภาพลักษณ์พรรคและเสถียรภาพรัฐบาล ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ "มาดามหลี" นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.เขตนี้อย่างชัดแจ้ง ทำให้สถานะของ "มาดามหลี" หล่นจาก "คู่ชิงแถวหน้า" ไปอยู่ "ลุ้นหนักแถวสอง" เรียบร้อยแล้ว

 

ข้อมูลนี้มาจาก "โพล" ที่พรรคการเมืองต่างๆ ทำขึ้นในทางลับ สำหรับปรับกลยุทธ์หาเสียง โดยโพลมี 2 ส่วนหลักๆ คือ

 

1.โพลที่ทำในพื้นที่เลือกตั้ง ปรากฏว่าผู้สมัครที่เบียดกันและมีโอกาสลุ้นสูงสุด คือ นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย กับ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า ส่วน "มาดามหลี" จะอยู่ในลำดับถัดมาที่มีโอกาสลุ้น โดยเบียดกับ "เพชร" กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล ตามด้วยผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี

 

2.โพลที่สำรวจจากกระแสในโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่า "เพชร กรุณพล" มาอันดับ 1 ตามด้วย นายอรรถวิขช์  กับนายสุรชาติ ที่เบียดกันมา แล้วจึงจะเป็น "มาดามหลี"

 

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมขณะนี้ กลายเป็น "ศีกตัดคะแนนกันและกัน" โดยต่างฝ่ายต่างตัดคะแนนกันไปมา หรือจะเรียกกันว่า "เกมชักเย่อที่หลักสี่" ก็ว่าได้ โดยมีปัจจัย ดังนี้

 

1.ธรรมชาติของพื้นที่หลักสี่และจตุจักรเปลี่ยนไป จากชุมชน กับบ้านรั้ว เริ่มมี "คอนโดฯ" เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสัดส่วนประชากรคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิม มีอายุอยู่ที่ราวๆ 30-35 ปี กลุ่มนี้เทคะแนนให้ "เพชร กรุณพล"

 

2.ฐานคะแนนใหญ่ที่สุด เป็นประชากรวัยทำงาน อายุ 35-60 ปี แย่งชิงกันระหว่าง นายสุรชาติ กับ นายอรรถวิชช์ แต่มีคะแนนที่เป็นช่องว่าง คือ คะแนนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 14,000 คะแนน ซึ่งคะแนนก้อนนี้จะเทไปที่ใครมากที่สุด โดยมีการคาดการณ์กันว่า นายอรรถวิชช์ มีแต้มต่อ เพราะเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ "อดีตผู้การแต้ม" พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัครเขตนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้ไม่ได้ลงสมัคร

 

นอกจากนั้น นายอรรถวิชช์ ยังได้คะแนนจากอดีต ส.ก. ที่เคยสนับสนุน นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.เขตนี้ ที่เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และเพิ่งลาออกจากพลังประชารัฐด้วย

3.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นฐานเสียงที่อาจไม่มากเท่ากลุ่มที่ 2 แต่มีความเหนียวแน่นและมุ่งมั่นในการออกไปเลือกตั้ง กลุ่มนี้พรรคไทยภักดีได้คะแนนไป จากจุดขายเรื่องความจงรักภักดี นอบน้อม และต้องการให้บ้านเมืองสงบ ซึ่งตรงใจกับประชากรกลุ่มนี้ แต่ก็มีพรรคเพื่อไทย พรรคกล้า และพรรคพลังประชารัฐ พยายามช่วงชิงคะแนนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่เคยทำโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่นี้

 

4.กลุ่มที่เบื่อรัฐบาล เบื่อพรรคพลังประชารัฐ จากปัญหาภายในพรรคขณะนี้ และผลงานที่ถูกตั้งคำถามของรัฐบาล โดยเฉพาะสินค้าราคาแพง ซึ่งก็คือกลุ่มที่เคยเลือกนายสิระ กลุ่มนี้ ผู้สมัครทุกคนพยายามช่วงชิงคะแนน ทำให้ผู้สมัครของพลังประชารัฐกลายเป็น "ตำบลกระสุนตก" ถูกโจมตีจากทุกพรรค

 

กิจกรรมที่จะวัดคะแนนนิยมรอบสุดท้าย คือ การปราศรัยใหญ่ก่อนเลือกตั้ง ราวๆ วันที่ 28 ม.ค. เป็นการวัดขุมพลังตามธรรมชาติ ว่าใครมีเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งวันนั้นจะพอมองเห็น ขณะที่พรรคกล้า ประกาศว่า วันที่ 28 ม.ค. จะมีเซอร์ไพรส์ กับการเปิดตัวอินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญ

 

ส่วนการลงพื้นที่ของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา สร้างความคึกคักได้พอสมควร และเป็นกำลังใจให้ "มาดามหลี" กับกองเชียร์ของพรรค ท่ามกลางกระแสโจมตีเกี่ยวกับ "คลัสเตอร์พลังประชารัฐ" เนื่องจาก ผอ.เลือกตั้งซ่อมของพรรค คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ซึ่งติดโควิด แต่แกนนำพรรคและผู้สมัครไม่ได้กักตัว แม้จะอ้างผลตรวจว่าปลอดเชื้อก็ตาม แต่ก็ยังถูกพรรคการเมืองคู่แข่งหยิบไปเป็นประเด็นโจมตีได้

 

 

logoline