svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สมช.ถกด่วนลุยโมเดล"ทยอยปิดศูนย์พักพิงฯ"

17 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่ศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งยืดเยื้อมาแล้ว 2 วัน สถานการณ์ยังอึมครึมนั้น ทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เรียกประชุมด่วนเพื่อรับฟังปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 4 จังหวัด จำนวน 9 ศูนย์ มีประชากรมากถึง 8-9 หมื่นคน เป็นปัญหาเรื้อรังมานานถึงเกือบ 40 ปี จนล่าสุดมีปัญหาชุมนุมประท้วงที่ศูนย์พักพิงฯ บ้านแม่หละ จึงเกิดกระแสตื่นตัวให้เร่งแก้ไขปัญหา

 

โดย สมช.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเพิ่งลงไปตรวจสอบพื้นที่มา เมื่อราวๆ 1 เดือนก่อนหน้า และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ผู้เปิดประเด็นปัญหาเรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ เข้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ไข

 

ผลของการประชุมหารือ ได้ข้อสรุปว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่จะดำเนินนโยบายลดจำนวนศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามฯ โดยตั้งเป้าหมาย "ปิดให้ได้ 1 ศูนย์ก่อน" โดยเร็วที่สุด

 

สมช.ถกด่วนลุยโมเดล"ทยอยปิดศูนย์พักพิงฯ"

 

แต่วิธีการที่จะดำเนินการลดจำนวนผู้หนีภัยสงครามฯ ด้วยการส่งไปประเทศที่ 3 หรือส่งกลับเมียนมา ไม่มีทางทำได้แล้ว เนื่องจากประเทศที่ 3 ปฏิเสธ และประเทศเมียนมา ก็มีเงื่อนไขมาก โดยเฉพาะต้องมีทะเบียนบ้านมายืนยัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้หลบหนีเข้ามาฝั่งไทยนานเกือบ 40 ปี ยกเว้นรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาเท่านั้นที่อาจจะส่งกลับได้ แต่คนรุ่นเก่า ราวๆ 8 หมื่นคน ไม่มีที่ไป

ฉะนั้นแนวทางแก้ไข คือ ต้อง "คิดนอกกรอบ" ด้วยการปรับแก้ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถออกมาทำงานได้ โดยเริ่มที่ "พื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี" เป็นแห่งแรก เพราะมีผู้หนีภัยสงครามฯ น้อยที่สุด ราวๆ 3,000 คน

 

หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดำเนินการ เพื่อปิดแคมป์นี้ให้ได้แคมป์แรกเป็นการนำร่อง แล้วค่อยๆ ทยอยปิดไปเรื่อยๆ ให้เหลือน้อยที่สุด โดยนำคนในแคมป์ออกมาทำงาน แต่ต้องมีเงื่อนไข และอาจให้สัญชาติไทยในอนาคต เนื่องจากคนเหล่านี้บางส่วนเกิดในเมืองไทย และพูดไทยได้ ประกอบกับที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานเองก็ออกมาให้ข่าวว่า ต้องการแรงงานมากถึง 5 แสนคน ในช่วงเปิดประเทศ

 

เมื่อมีแรงงานอยู่ในบ้านของเราเองเช่นนี้ ก็ควรนำมาใช้ แต่ต้องคัดแยก และดูพฤติกรรม ตลอดจนทักษะความสามารถในการทำงาน คนที่ทำงานได้ ก็ให้ออกมาทำ และติดตามดูพฤติกรรม หากเรียบร้อยดีก็อาจจะมอบสัญชาติไทยให้ภายใน 3-5 ปี ส่วนคนที่ไม่มีทักษะความสามารถ ก็แยกไปอยู่แคมป์อื่น เพื่อลดจำนวนแคมป์ไปเรื่อยๆ ให้เหลือน้อยที่สุด

 

 

สารพัดปัญหา "ค้ายา-ค้ามนุษย์-อาวุธสงคราม"

 

สำหรับศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามฯ ที่บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง ที่เพิ่งเกิดความวุ่นวาย ทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ และกิจการชายแดนฯ เพิ่งลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมเมื่อราวๆ 1 เดือนที่ผ่านมานี้เอง และจากการพูดคุยกับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า ศูนย์พักพิงฯลักษณะนี้ทุกศูนย์ มีปัญหาหลายอย่าง และกลายเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงอย่างแท้จริง

 

สมช.ถกด่วนลุยโมเดล"ทยอยปิดศูนย์พักพิงฯ"

ปัญหาที่พบได้แก่

-ยาเสพติด

-ค้ามนุษย์

-อาวุธสงคราม (เพราะเป็นชนกลุ่มน้อย บางส่วนยังเอาใจช่วยพรรคพวกที่อยู่ฝั่งตรงข้าม หรือต้องการกลับไปช่วยรบ)

-ปัญหาด้านสาธารณสุข

-ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แย่งชิงที่ดินทำกินของราษฎรไทย

แฉด้านมืด "ศูนย์ผู้หนีภัยฯ" แหล่งรายได้นอกระบบ

ขณะที่ปัญหาอีกด้านที่ได้รับฟังมาจากฝ่ายต่างๆ พบว่า

 

สมช.ถกด่วนลุยโมเดล"ทยอยปิดศูนย์พักพิงฯ"

 

-ปลัดอำเภอคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์พักพิงฯ ทำหน้าที่นี้มายาวนานถึง 8 ปี ไม่ยอมย้ายไปไหน

 

-ทุกฝ่ายยอมรับว่า มีการหารายได้จากส่วย และทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น แบ่งโควต้าขายอาหารสด ซึ่งมียอดขายทุกวัน จำหน่ายมือถือ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศก็หาผลประโยชน์ เพราะถ้าปิดศูนย์ฯ ก็จะไม่มีงานทำ

 

-การเก็บส่วย มีทั้งการเก็บเงินค่าผ่านทาง ใครจะออกไปนอกแคมป์ ไปทำงาน หรือไปไหนก็ตามต้องจ่ายเงิน หากจะกลับเข้ามา ก็ต้องจ่ายเงินอีกรอบ หรือถ้าจะนำทรัพย์สินเข้ามาด้วย เช่น ตู้เย็น ก็มีค่าใช้จ่าย เหล่านี้เป็นส่วยที่มีคนได้ประโยชน์ ทำให้ปัญหาแก้ไขไม่ได้ และยืดเยื้อเป็นด้านมืดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรม

 

สมช.ถกด่วนลุยโมเดล"ทยอยปิดศูนย์พักพิงฯ"

 

logoline