svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เร่งกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำซากติดในกฤษฎีกา 3 เดือน!

04 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การกระทำความผิดซ้ำซากของ "ผู้พ้นโทษในคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง" เป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมอาญาของไทยมาเนิ่นนาน แต่ละคดีที่คนเหล่านี้ก่อส่วนใหญ่ร้ายแรง และกระทบกับความปลอดภัยของสังคม เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

การดูแลผู้กระทำความผิดกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้ม "กระทำความผิดซ้ำ" กำลังจะมีการออกกฎหมายขึ้นมาควบคุมและติดตามพฤติกรรม นั่นคือ "ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงฯ" โดยผู้กระทำความผิดในกลุ่มป่วยจิตเวช ก็อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ด้วย

 

 

สำหรับผู้พ้นโทษคดีผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ตามนิยามของร่างกฎหมายใหม่ก็เช่น คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ อย่าง ไอซ์ หีบเหล็ก , บังหมัดฆ่าข่มขืนเด็ก , คดีข่มขืน , การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ตัวอย่างเช่น คดีของ จิตรลดา ที่ใช้มีดแทงนักเรียน และภายหลังมาก่อเหตุซ้ำ ก็เข้าข่ายตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน

 

"สอดส่อง-ติดอีเอ็ม" ผู้พ้นโทษคดีอุกฉกรรจ์ ข่มขืน ป่วยจิต

 

กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ พบว่า ผู้กระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้วจะกระทำความผิดซ้ำ ในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาควบคุม และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ตลอดจนผู้บริสุทธิ์

 

เร่งกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำซากติดในกฤษฎีกา 3 เดือน!

 

 

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานกิจการยุติธรม ซึ่งรับผิดชอบติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ข้อมูลว่า มาตรการที่จะนำมาใช้ มี 2 มาตรการหลักๆ คือ 1.เฝ้าระวัง ควบคุมสอดส่อง เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก และ 2.คุมขังภายหลังพ้นโทษ ในกรณีที่บุคคลเฝ้าระวังกระทำผิดเงื่อนไข

 

ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช จะใช้มาตรการทางการแพทย์ การบำบัดรักษา และการดูแลภายใต้การควบคุมของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก 

 

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น การห้ามเข้าเขตหรือพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งมาตรการนี้บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เรียกว่า "มาตรการเพื่อความปลอดภัย"

 

เร่งกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำซากติดในกฤษฎีกา 3 เดือน!

 

ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ผสมผสานกัน โดยไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้พ้นโทษ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นความอ่อนไหว และกระทรวงยุติธรรมได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างรอบด้านแล้ว พบว่าหลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็อนุญาตให้มีมาตรการดูแล ผู้พ้นโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้

 

 

ส่วนวิธีการที่จะนำมาใช้ควบคุมผู้พ้นโทษ ก็เช่น ติดกำไลอีเอ็ม ซึ่งจะเป็นกำไลขนาดเล็ก ไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หากสวมกางเกงขายาวก็จะมองไม่เห็น

 

นอกจากนั้น ก็จะมีวิธีการสอดส่องดูแลโดยใช้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ และมีการประเมินผลเป็นระยะ ไม่ได้หมายความว่า ผู้พ้นโทษต้องใส่กำไลอีเอ็มทุกคน แต่จะแยกแยะเฉพาะบางคดีที่เข้าเกณฑ์ และพฤติกรรมความรุนแรงที่เป็นเงื่อนไข โดยการติดตามดูจะมีตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ ระหว่างอยู่ในเรือนจำ และหลังจากพ้นโทษไปแล้ว

 

 

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. และส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเป็นกฎหมายบังคับต่อไป

 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กระทรวงยุติธรรมในฐานะเจ้าของเรื่อง ได้จัดส่งร่างกฎหมายและผลการศึกษาวิจัย ตลอดจนผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาไปหมดแล้ว และใช้เวลาพอสมควร แต่ร่างกฎหมายก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาออกมา

 

เร่งกม.ป้องกันกระทำผิดซ้ำซากติดในกฤษฎีกา 3 เดือน!

 

กระทั่งกระทรวงยุติธรรมมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้เร่งรัดพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายไปแล้ว 22 ครั้ง ใช้เวลาไปแล้ว 122 วัน นับตั้งแต่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เฉพาะขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ใช้เวลา 85 วัน

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม บอกว่า อยากให้กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้สังคมมีความปลอดภัย และลดจำนวนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

 

logoline