svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สามมิตรยังหนุน"ลุงตู่"หรืออยู่รอทิศทางลม?

30 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มรวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มคึกคัก เหมือนอยู่ในโหมดใกล้เลือกตั้ง บางเรื่องแม้จะมีการออกมาปฏิเสธข่าวจากผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีนัยทางการเมืองที่น่าสนใจแฝงอยู่

เริ่มจาก "กลุ่มสามมิตร" ที่มีข่าวย้ายกลับพรรคเพื่อไทย จนทางแกนนำกลุ่มต้องออกมาปฏิเสธกันอย่างพัลวัน พร้อมยืนยันว่า "ยังหนุนลุงตู่ ยังอยู่กับลุงป้อม"

 

แต่ข่าววงในจากแกนนำกลุ่มสามมิตร ยอมรับว่ามีพรรคการเมืองอื่นหลายพรรค ติดต่อทาบทามไปร่วมงานด้วยจริง เพราะสามมิตรมี ส.ส.ในมือ และแต่ละคนเป็น ส.ส.ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการกระแสพรรคสนับสนุนมากนัก ส่วนข่าวที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ก็มีการพูดคุยกันจริง

 

เนื่องจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และแกนนำกลุ่มสามมิตร มีสายสัมพันธ์ดีกับ "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เพราะนายสมศักดิ์เคยเป็นแกนนำ "กลุ่มวังน้ำยม" ที่เชื่อมกับ "กลุ่มวังบัวบาน" ของ "เจ๊แดง"

 

แต่การย้ายพรรค หากจะเกิดขึ้นจริง ทางกลุ่มสามมิตรจะยังไม่ตัดสินใจเวลานี้ เพราะยังไม่ชัดว่านายกฯจะยุบสภาเร็วหรือไม่ และหากจะย้ายพรรค ต้องได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เองก็เคยเปรยกับคนใกล้ชิดว่า "ผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน หลังเลือกตั้งทุกครั้งผมเป็นรัฐบาลตลอด"

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร

 

สิ่งที่ทำให้กลุ่มสามมิตร ชั่งใจอย่างมาก คือสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ ยังไม่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยจะโดนศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคหรือไม่ เพราะมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ "คนแดนไกล" ครอบงำพรรค ฉะนั้นการจะย้ายต้องไม่บุ่มบ่าม รอดูทิศทางลมให้ดีก่อน

"นิพิฏฐ์"ลา ปชป. - สังคมรอลุ้นพรรคใหม่สี่กุมาร

 

ถัดมาอีกฝากฝั่งความเคลื่อนไหว คือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตขุนพลภาคใต้ และอดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย ประกาศทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองเกิดใหม่ ที่ให้เกียรติมาเชิญไปร่วมอุดมการณ์

 

กรณีของนายนิพิฏฐ์ นั้นน่าจะย้ายพรรคแน่นอนแล้ว และน่าจะตัดจบ โบกมือลากับพรรคประชาธิปัตย์ถาวร เพราะให้สัมภาษณ์กับ "เนชั่นทีวี" เอาไว้เมื่อวานนี้ว่า เตรียมหาโอกาสไปกราบลา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยให้โอกาสในการได้แจ้งเกิดการเมือง

 

ความเคลื่อนไหวของนายนิพิฏฐ์ที่กำลังถูกจับตามมากกว่า จึงไม่ใช่การจะออกจากประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่เป็นเรื่อง "พรรคใหม่" ที่จะไปสังกัด ซึ่งนายนิพิฏฐ์ แย้มคุณสมบัติเอาไว้ว่า เป็นพรรคที่ไม่สร้างความเกลียดชังแบ่งแยกคนเป็น 2 ขั้ว เป็นพรรคที่มีนโยบายเศรษฐกิจดีมากๆ และมีนโยบายฟื้นประเทศหลังจากโควิด-19 อย่างจับต้องได้ เป็นรูปธรรม

 

จากข้อมูลของนายนิพิฏฐ์ ที่ระบุมาข้างต้น จึงมีการคาดหมายว่า พรรคที่ว่านี้ คือ พรรคใหม่ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลลุงตู่ และรัฐบาลทักษิณ กับกลุ่มอดีตสี่กุมาร 

 

โดย "เนชั่นทีวี" ได้พูดคุยกับ "คีย์แมน - มือทำงาน" ของพรรคใหม่อดีตสี่กุมาร ได้รับคำยืนยันว่า นายสมคิด และอดีตสี่กุมาร ตั้งพรรคการเมืองแน่ และได้พุดคุยกับนายนิพิฏฐ์มาหลายรอบแล้ว ถือว่าปิดดีล ลงตัวเรียบร้อย ส่วนพรรคใหม่จะใช้ชื่อพรรคอะไรนั้น ยังขออุบไว้ก่อน แต่เป็นชื่อพรรคที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

สามมิตรยังหนุน"ลุงตู่"หรืออยู่รอทิศทางลม?

 

 

 

มีข่าวว่า พรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มอดีตสี่กุมาร จะมีคำว่า "พลัง" และคำว่า "นำไทย" เมื่อตรวจสอบข้อมูลพรรคการเมืองที่จดแจ้งจัดตั้งไว้กับ กกต. พบชื่อ พรรคพลังไทยนำไทย มีสมาชิก 6,613 คน มีสาขาพรรค 4 สาขา และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 5 จังหวัด ถือว่าพร้อมพอสมควร แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าพรรคการเมืองนี้ เป็นพรรคใหม่ของกลุ่มอดีตสี่กุมารจริงหรือไม่ 

 

"ก้าวหน้า-ก้าวไกล" ชนะก้าวใหญ่หรือก้าวพลาด

 

 

ส่วนกลุ่มนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มการเมืองชื่อ "คณะก้าวหน้า" มีประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตา คือ การส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. ชนะมา 38 แห่ง จากที่ส่งทั้งหมด 196 แห่ง จากจำนวน อบต.ทั้งประเทศ 5,300 แห่ง ผลการเลือกตั้งที่ออกมากำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าสรุปแล้ว "คณะก้าวหน้า" ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่

 

หากฟังจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่แถลงข่าววานนี้ ถือเป็นความสำเร็จ เพราะสนาม อบต. ส่งผู้สมัคร 196 ที่นั่ง ชนะเลือกตั้งได้ 38 อบต. คิดเป็น 19.4% จึงดีใจ พอใจ และภูมิใจ

 

สามมิตรยังหนุน"ลุงตู่"หรืออยู่รอทิศทางลม?

 

เมื่อเทียบกับ ส.ส. สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ ส่ง 350 เขต ชนะ 30 เขต คิดเป็น 8.6% เทียบกับเทศบาล ส่ง 106 เทศบาล ได้นายกเทศมนตรี 16 คน คิดเป็น 15% ถือว่าดีขึ้น ส่วน อบจ.หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เสียดายที่ไม่ได้เลย

 

นายธนาธร ยังบอกด้วยว่า การเลือกตั้ง อบต. เป็นพื้นที่ชนบท พื้นที่ทางการเกษตร มีความเป็นเมืองน้อย มีคนรุ่นใหม่ต่อสัดส่วนประชากรไม่มาก หลายคนพูดไม่ใช่พื้นที่ของคณะก้าวหน้า หลายคนสบประมาท แต่จากผลเลือกตั้ง ชนะมากถึง 19.4%

 

แต่มุมมองของนายธนาธร สวนทางกับฝ่ายความมั่นคงที่ประเมินการเลือกตั้ง อบต.หนนี้ โดยฝ่ายความมั่นคงมองว่ากระแสของคณะก้าวหน้า และอาจรวมถึงพรรคก้าวไกล ยังไม่แรงมากพอ โดยตัวเลขที่นายธนาธรยกมา คิดตัวเลขเทียบกับจำนวนตัวเองส่งผู้สมัครเท่านั้น ถึงได้ 19.4% แต่หากเทียบกับจำนวน อบต.ทั้งประเทศ (5,300 อบต.) จะเหลือเพียง 0.75%

 

ผลที่ออกมาแม้จะนำไปคาดการณ์กับการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ยาก เนื่องจากเขตเล็กกว่ามาก แต่ต้องยอมรับว่ากระแสของคณะก้าวหน้ามีน้อยกว่าที่ทางพรรคคาดเอาไว้

 

ขณะที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักรัฐศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งท้องถิ่น กับระดับชาติ ไม่สามารถสะท้อนกันได้ โดยเฉพาะ อบต. ยิ่งสะท้อนยาก เพราะเขตเล็กมาก ขณะที่ผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล คือ คนรุ่นใหม่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นระบบการเลือกตั้งจึงสำคัญมาก

 

logoline