svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

บาร์เบโดสเป็นสาธารณรัฐ ไม่เอาราชินีอังกฤษเป็นองค์ประมุข

29 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บาร์เบโดสเป็นเอกราชมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ยังคงนับถือสมเด็จพระราชินีอังกฤษเป็นองค์พระประมุขของประเทศ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบ โดยถอดพระองค์ลงจากตำแหน่ง แล้วให้มีตำแหน่งประธานาธิบดี

วันอังคาร ( 30 พฤศจิกายน ) วันครบรอบ 55 ปีการได้รับเอกราช อดีตอาณานิคมของอังกฤษอย่างบาร์เบโดส จะปกครองประเทศในแบบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรก หลังทำพิธีอัญเชิญสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรลงจากตำแหน่งองค์พระประมุขของประเทศ

 

เรื่องนี้ถือเป็นการตัดความผูกพันสุดท้ายที่เหลืออยู่กับจักรวรรดิอังกฤษที่ดำเนินมานานเกือบ 400 ปี นับตั้งแต่เรืออังกฤษลำแรก เดินทางมาถึงเกาะในทะเลแคริบเบียนแห่งนี้

 

การเคลื่อนไหวของบาร์เบโดสครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศถอดสมเด็จพระราชินี ออกจากฐานะประมุขในรอบเกือบ 30 ปี

 

มอริเชียสซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ก็เคยประกาศตนเป็นสาธารณรัฐเช่นกัน แต่ทั้งมอริเชียสและบาร์เบโดส ก็ยังคงอยู่ในเครือจักรภพ ซึ่งประกอบไปด้วย 54 ประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษทั่วโลก ทั้งแอฟริกา เอเชีย อเมริกา ยุโรป และแปซิฟิก ซึ่งเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ความสำคัญสูงสุด โดยประชากรรวมของกลุ่มมากถึง 2 พัน 500 ล้านคน

 

บาร์เบโดสไม่มีประชากร ตอนที่ชาวอังกฤษมาถึงเกาะเป็นครั้งแรก

 

ในชั้นต้น ชาวอังกฤษให้คนรับใช้ชาวอังกฤษไปทำงานในไร่ยาสูบ ฝ้าย ครามและอ้อย แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ บาร์เบโดสก็กลายเป็นชุมชนทาสที่ทำกำไรอย่างแท้จริงแห่งแรกของอังกฤษ

บาร์เบโดสเป็นสาธารณรัฐ ไม่เอาราชินีอังกฤษเป็นองค์ประมุข

 

บาร์เบโดสรับทาสชาวแอฟริกันเข้ามาจำนวนถึง 600,000 คนระหว่างปี 2170 - 2376 เพื่อให้ไปทำงานในไร่อ้อย เพื่อสร้างรายได้มหาศาลให้กับเจ้าของที่ดินชาวอังกฤษ

 

ชาวแอฟริกันมากกว่า 10 ล้านคนถูกจับเป็นทาสในอุตสาหกรรมการค้าทาสแถบมหาสมุทรแอตแลนติกโดยประเทศในยุโรประหว่างศตวรรษที่ 15 - 19 โดยผู้ที่รอดชีวิตจากการเดินทางอันโหดร้าย มักจะจบลงด้วยการต้องทำงานหนักในไร่นา

 

แม้ว่าในที่สุด พวกเขาจะได้รับอิสรภาพอย่างเต็มที่ในปี 2381 แต่เจ้าของที่ดินก็ยังคงรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเอาอย่างมากมายในศตวรรษที่ 20 

 

เกาะนี้ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี 2509 แต่จนถึงปัจจุบันพวกเขายังคงเคารพสมเด็จพระราชินีในฐานะประมุขแห่งรัฐ เช่นเดียวกับในอดีตอาณานิคมของอังกฤษจำนวนหนึ่ง รวมทั้งจาเมกาและออสเตรเลีย

 

สาธารณรัฐบาร์เบโดสจะได้รับการประกาศในพิธีที่มีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษพระชนมายุ 73 พรรษาเข้าร่วม โดยพิธีจะเริ่มในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 29 พ.ย. ที่จัตุรัสวีรบุรุษแห่งชาติในกรุงบริดจ์ทาวน์

 

ขณะที่บาร์เบโดสกำลังเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง ชาวเมืองบางคนในเมืองหลวงบอกว่าพวกเขาสับสนเกี่ยวกับความหมายของการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขา

บาร์เบโดสเป็นสาธารณรัฐ ไม่เอาราชินีอังกฤษเป็นองค์ประมุข

 

ในวันอังคาร สมเด็จพระราชินี จะถูกแทนที่ด้วยประธานาธิบดีซานดร้า เมสัน ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง โดยหลักแล้ว เธอจะทำหน้าที่ทางพิธีการ อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีมีอา มอตต์ลีย์  ปัจจุบัน เมสันเป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ ของสมเด็จพระราชินีในประเทศนี้

 

"ฉันไม่แน่ใจว่ามันส่งผลกระทบต่อฉันอย่างไรในฐานะชาวบาร์เบเดียนที่อยู่ที่นี่ในทุก ๆ วัน คุณยังมีนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่า แล้วบทบาทของประธานาธิบดีจะเป็นอย่างไรละ ?” ไดแอน คิง ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลวัย 34 ปีบอก 

 

ผู้คนหลายสิบคนปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องการสร้างสาธารณรัฐ โดยบอกว่าพวกเขาไม่มีความรู้มากพอที่จะแสดงความคิดเห็น

 

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีผลกระทบต่อการค้าหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของเกาะ 

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบาร์เบโดส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดจากปัญหาไวรัสโคโรนา และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในยุคหลังโรคระบาดได้ผลักดันราคาในประเทศที่ค่าครองชีพสูงอยู่เสมอ จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค

 

ลอรี คอลเลนเดอร์ วัย 43 ปี ให้ข้อมูลว่า “ฉันคิดว่าทุกคนกังวลกับค่าเงินดอลลาร์ในวันนี้ และมันจะหมายถึงอะไรสำหรับวันพรุ่งนี้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับราคาที่สูงขึ้น  ในความคิดของฉัน ผู้คนพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น"
 

บาร์เบโดสเป็นสาธารณรัฐ ไม่เอาราชินีอังกฤษเป็นองค์ประมุข

 

logoline