svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผงะ! สำรวจอาหารเจ "กทม.-ปริมณฑล" เจอดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน

09 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำรวจอาหารเจใน "กทม.-ปริมณฑล" เจออาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ มีดีเอ็นเอเนื้อสัตว์จริงปนเปื้อน ส่วนผักผลไม้สด พบสารกำจัดศัตรูพืช

ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.เป็นต้นมา หลายคนกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจประจำปี แม้ปีนี้หลายพื้นที่จะงดจัดงานเทศกาล แต่ร้านค้าต่างๆ ยังคงทำสินค้าเกี่ยวกับอาหารเจอย่างคึกคัก

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง

โดยแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สด จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 93 ตัวอย่าง 

สำรวจอาหารเจ กทม-ปริมณฑล พบปนเปื้อน DNA เนื้อสัตว์

ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก จำนวน 57 ตัวอย่าง ตรวจพบดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน จำนวน 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.5

 

“การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่เชื่อถือได้ เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม หรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน”

อาหารประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ จำนวน 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิก 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 แต่ไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

 

ทั้งนี้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมาก อาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยผู้แพ้สารนี้ จะมีอาการผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

 

ส่วนผักและผลไม้สด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.8

สำรวจอาหารเจ กทม-ปริมณฑล พบปนเปื้อน DNA เนื้อสัตว์

logoline