svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พรรคร่วม"อยู่ยาก" เกมเลือกข้างพลังประชารัฐ

02 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากนี้ยังต้องจับตา โดยเฉพาะกระแสการเปลี่ยนขั้ว สลับข้าง เพื่อต่ออนาคตทางการเมือง หลังเกิดความผันผวนภายในพลังประชารัฐ ลามสู่การดึง 4 กรม ในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การดูแลของ “ผู้กองธรรมนัส” มาไว้ในมือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สัญญาณเริ่มชัด หรือเรียกได้ว่ากลิ่นอายการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ จากการลงพื้นที่ถี่ยิบ ของ "นายกฯลุงตู่" รวมถึง "บิ๊กป้อม" บวกกับพรรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดย "จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และ "นายหัวชวน" ประธานรัฐสภา ที่เดินสายแจกของช่วยเหลือประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ

 

แม้หลายเสียงต่างออกมาปฏิเสธ ถึงตารางออนทัวร์ ไม่เกี่ยวข้องกับหาเสียงเลือกตั้ง แต่เพื่อรับฟังประชาชนและนำปัญหาที่ได้รับไปสู่การแก้ไข แต่บรรยากาศระหว่างการลงพื้นที่ ระดับนายกฯ รองนายกฯ เรื่อยไปถึงรัฐมนตรี สัมผัสได้ถึงบรรยากาศไม่แตกต่างกับการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะมีติดตั้งป้ายต้อนรับ พร้อมข้อความขอบคุณ

 

ที่เกริ่นมาแม้จะเป็นเศษเสี้ยวของบรรยากาศ แต่หลังจากนี้นับเป็นงานหนัก สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา กับการตัดสินใจ ว่าเลือกข้าง ถือหางใคร หลังเกิดพลังวัดกระแสภายในพลังประชารัฐ ที่ลามถึงพรรคร่วมรัฐบาล

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 

โดยเฉพาะ "ประชาธิปัตย์" ถือเป็นตำบาลกระสุนตก หรือได้รับหางเลข จากปัญหาภายใน พปชร. จากการดึง 4 กรม กระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ไปให้ พล.อ.ประวิตร ดูแล  

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

 

ซึ่งต้องไม่ลืมว่า 4 กรม ที่ว่านั้น เคยอยู่ภายใต้การกำกับของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก่อนถูกปลดจากรัฐมนตรีช่วย และภาพ "ผู้กองธรรมนัส" อีกมุม ก็คือขุนพลคู่กาย พล.อ.ประวิตร แม้หลุดรัฐมนตรี แต่ก็ยังนั่งคุมตำแหน่งสำคัญในพรรคอยู่ คือ เลขาธิการพลังประชารัฐ จึงปฏิเสธได้ยากว่า เรื่องนี้ไม่ต่างจากการเตรียมพร้อมลงสนามเลือกตั้ง

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

 

รวมถึงการประกาศกร้าวของนายจุรินทร์ และบรรดาลูกพรรคประชาธิปัตย์ หลังทราบผลมติ ครม. ที่ดึง 4 กรม ไปอยู่กับหัวหน้าพลังประชารัฐ ก็ไม่ต่างจากบีบให้พรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือ ต้องเลือกขั้ว เลือกข้าง ถือหางให้ถูก เพราะแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่ออนาคตหากคิดร่วมรัฐบาลอีกครั้งสมัยหน้า

 

เหตุผลที่ทำให้พรรคร่วมต้องคิดหนัก เพราะย้อนกลับไปช่วงไม่กี่สัปดาห์ จะเห็นภาพการวัดพลัง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ในการลงพื้นที่ โดยมีบรรดา ส.ส. แห่มาต้อนรับ ซึ่งถือเป็นนัยหนึ่งที่บอกถึงการเลือกข้าง ได้อย่างชัดเจน ว่าภายในพลังประชารัฐเป็นอย่างไร

 

จึงไม่แปลกเมื่อเรื่องภายในมากระทบภายนอก ทำให้เกิดเสียงทวงถามเรื่องมารยาท เกียรติ และศักดิ์ศรี ตามมาเป็นเงา หากคิดจะอยู่ร่วมหัวจมท้ายจนครบเทอม เพราะถ้ายังเป็นเช่นนี้ หมายถึงทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นอาจเป็นไปได้ยากตลอดรอดฝั่ง ซึ่งเปรียบดั่งรอยแผลฝากไว้กลางดวงใจ

ที่บอกว่าหนักพรรคร่วมต้องคิดหนัก คือ สิ่งตอกย้ำว่าเกิดการเลือกข้างใน พปชร. เมื่อ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ ภาคใต้ พลังประชารัฐ และเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาประกาศเตรียมแยกทางเดิน โดยจะไปร่วมกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

 

ทำให้สปอร์ตไลท์การเมืองโฟกัสไปยัง "ปลัดฉิ่ง" ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงคลองหลอด เตรียมตบเท้าลงสนามการเมือง แม้เจ้าตัวล่าสุด ออกมาเปรยไม่ขอเข้ามาวุ่น อยากเป็นคนธรรมดา แต่ถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้า กับฝุ่นตลบการควานหาตัวมาแทน "ปลัดฉิ่ง" ซึ่งขอเกษียนอายุราชการ ก่อนเวลา

 

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

จากกระแสข่าวครั้งนั้น มีการวางตัวให้ “ปลัดฉิ่ง” นั่งหัวหน้าพรรคอะไหล่ให้กับ “ลุงตู่” หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง จนเกิดการวิ่งกันฝุ่นตลบในมหาดไทย ที่จะเตรียมโยกลูกหม้อเก่าข้ามห้วย เข้ามานั่งปลัดมหาดไทย

 

ขณะเดียวกัน แม้มีกระแสข่าวล่าสุด "ลุงป้อม" เตรียมชู "ลุงตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯ สมัยสาม นามพลังประชารัฐ แต่ไร้การการันตีจากแกนนำคนสำคัญจาก พปชร. ยืนยัน จึงยิ่งเป็นภาพสะท้อนให้พรรคร่วมคิดต่อว่า หากยังหมายมั่นปั้นเหมาะ ร่วมกันต่อ ก็อาจสิ้นอนาคตการเมืองตามมา

 

จากการขาดเสถียรภาพของพลังประชารัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนกับ "สนิมเนื้อใน" คอยกัดกร่อนรากฐาน เพราะหากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่วางเสาเข็มตัวเองให้เหนียวแน่น ผลกระทบก็คงอาจตามมาในอีกไม่ช้า ถ้ายังประมาทเลินเล่อ ซึ่งบรรดาพรรคร่วมคงไม่ปล่อยจนถึงเวลานั้น

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

 

ทั้งหมดเป็นเพียงภาพรวมการเมืองไทยยุคปลายรัฐบาล "ลุงตู่" กับการสร้างขุมกำลังกัน "ขาลอย" หากคิดเล่นการเมืองอีกครั้ง ท่ามกลางการเลือกข้างหนักหน่วงในพลังประชารัฐ นอกจากจะเป็นงานยากสำหรับ "บิ๊กตู่" ที่ขึ้นขี่หลังเสือ แล้วแต่การลงจากหลังเสือนั้นยากกว่า

 

จากภาพตรงนี้ ก็พอฉายให้เห็น เมื่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสั่นคลอน ก็พาลส่งแรงสะเทือนถึงพรรคร่วมให้อยู่ยาก

    

logoline