svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับทิศการเมือง "ธรรมนัส-ปลัดฉิ่ง" ในสงครามตัวแทน 3 ป.

02 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์การเมืองบ้านเรายังคงอึมครึม และมีความไม่แน่นอนสูง จากข่าวคราวความขัดแย้งของ "กลุ่ม 3 ป." และกลุ่มมุ้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล

ตลอดเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่องที่สร้างความอึมครึมต่อสถานการณ์การเมืองไทย หลักๆ ก็คือความสัมพันธ์ของ "กลุ่ม 3 ป." ยังแนบแน่นกันเหมือนเดิมหรือไม่ หลังนายกฯตัดสินใจปลด ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า และ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ "บิ๊กป้อม" ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กลับไม่ปลดทั้งคู่ออกจากตำแหน่งสำคัญในพรรค

 

หลังจากนั้นทั้งนายกฯ และ "บิ๊กป้อม" ต่างก็เดินสายลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม พบปะ ส.ส.และพี่น้องประชาชน จนถูกมองว่าเป็นการ "วัดพลัง" และเช็คกระแสสนับสนุนของฝ่ายตน ท่ามกลางข่าวความแตกร้าวของกลุ่มมุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ จนไร้เอกภาพ และทำให้นายกฯตกอยู่ในภาวะ "ขาลอย" เนื่องจากผู้กองธรรมนัสยังคุมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค

 

ขณะเดียวกันนายกฯก็ไปสร้างรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการดึงงาน 4 กรมในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกฯ กำกับดูแลแทน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีข่าวว่านายกฯ พยายามเอาใจ พล.อ.ประวิตร จากปัญหาการปลดผู้กองธรรมนัส แต่กลับเป็นการสร้างปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ คล้ายเปิดศึกเพิ่มอีกด้าน

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

และล่าสุดเริ่มมีข่าวการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ พร้อมๆ กับกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อรองรับการเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไปของนายกฯ โดยบุคคลที่ถูกพูดถึงว่าเป็น "คีย์แมน" คนสำคัญคือ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือ "บิ๊กฉิ่ง" อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

ผู้ที่ออกมาตอกย้ำความชัดเจนของเรื่องนี้ คือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำกลุ่มด้ามขวานไทย และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารของนายกฯ

 

โดย พ.อ.สุชาติ ประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐด้วย ยิ่งสะท้อนภาพความขัดแย้งภายในพรคให้แจ่มชัดขึ้นอีก

 

จากสถานการณ์ล่าสุดนี้ ทำให้ ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ประเมินทิศทางการเมืองนับจากนี้ว่า กำลังเกิด "สงครามตัวแทน" หรือ proxy war เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองของแต่ละฝ่าย

 

จับทิศการเมือง "ธรรมนัส-ปลัดฉิ่ง" ในสงครามตัวแทน 3 ป.

 

 

ผศ.ดร.เชษฐา อธิบายว่า จะเกิดปรากฏการณ์ชัดเจนของ 2 ขั้วย่อยในฝั่งเครือข่ายแกนนำรัฐบาลเดียวกัน ระหว่าง "ผู้กองธรรมนัส" กับ "อดีตปลัดฉิ่ง" เป็นภาพตัวแทนความเคลื่อนไหวระหว่าง ป.พี่ใหญ่ กับ 2 ป.น้องรองน้องเล็ก

 

อย่างที่สังคมรู้กันว่า พี่น้อง 3 ป. ไม่ปะทะกันโดยตรง เพราะมีความสัมพันธ์พี่น้องแนบแน่น แต่ในทางการเมืองแล้วเป็นที่ชัดเจนว่ากำลังสร้างฐานกำลังของตัวเอง ผ่านตัวแทน หรือ agent ทางการเมือง

 

สถานการณ์นี้ถือว่าไม่ใช่ศึกข้ามพรรค แต่เป็นศึกสายเลือดภายใน "3 ป." ระหว่างพรรคพลังประชารัฐทางหนึ่ง กับพรรคใหม่ที่มีกระแสข่าวว่านำโดย "บิ๊กฉิ่ง"

 

ผศ.ดร.เชษฐา ประเมินว่า หลังจากนี้จะมีการประลองกำลังเพื่อชิงความได้เปรียบใน 5 สมรภูมิสำคัญ คือ

 

จับทิศการเมือง "ธรรมนัส-ปลัดฉิ่ง" ในสงครามตัวแทน 3 ป.

 

1. สมรภูมิช่วงชิง ส.ส.พลังประชารัฐเข้ากลุ่ม-มุ้งของแต่ละฝ่าย จะมีการใช้กลยุทธ์จับปลาใส่บ่อ และตกปลาในบ่อเพื่อน ทำให้ค่าตัว ส.ส.ย้ายกลุ่ม ย้ายพรรค พุ่งสูงขึ้น และต้องแจกกล้วยกันมากขึ้น

 

2. สมรภูมิช่วงชิงกลุ่มทุน เพื่อสะสมฐานทุนสำหรับใช้ดึงตัว ส.ส., ว่าที่ ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ทั้งยังเป็นทุนสำหรับเตรียมทำพื้นที่รับเลือกตั้งด้วย 

 

3. สมรภูมิช่วงชิงมวลชน เห็นได้ชัดจากการแยกสายกันลงพื้นที่ถี่ยิบ โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มี ส.ส.ของพรรคกลุ่มก้อนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่

 

4. สมรภูมิช่วงชิงข้าราชการ เพื่อเป็นมือไม้ในการทำงานและสร้างผลงาน สมรภูมินี้คือจุดแตกหักระหว่าง "ผู้กองธรรมนัส" กับ "2 ป. น้องรองน้องเล็ก" เพราะผู้กองต้องการทวงโควต้าตำแหน่ง รมว.มหาดไทย คืน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะ "จี้ใจดำ 2 ป." แต่กลับได้ใจ ส.ส.พลังประชารัฐ

 

5. สมรภูมิการช่วงชิงขุมกำลังทหาร-ตำรวจ ผ่านการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะปมการโยกย้ายตำรวจในปีหลังๆ ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่สบอารมณ์ของ "ป.ใหญ่" มาแล้ว

 

สรุปสถานการณ์ในขณะนี้ ฝั่งนายกฯ ได้เปรียบในสมรภูมิ 4 กับ 5 เพราะมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายโดยตรง ส่วนสมรภูมิที่ 3 กำลังวัดพลังกันอย่างขะมักเขม้น และสมรภูมิที่นายกฯเสียเปรียบมากที่สุด คือ สมรภูมิ ส.ส. และเกมในสภา ส่วนสมรภูมิที่ 2 กลุ่มทุน จะไหลไปรวมในข้างชนะเสมอ

 

น่าสนใจว่าเกมในสภาฯ คือ จุดชี้ขาดอนาคตทางการเมืองของนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายสำคัญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเข้าสภาฯ แล้วโหวตไม่ผ่าน เสียงสนับสนุนไม่พอ นายกฯต้องลาออก หรือยุบสภาฯทันที

logoline