svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พิษโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทำรายได้หด ชาวไร่อยากเลิกปลูก

27 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิจัย ม.นเรศวร พบ 2 ใน 3 ของชาวไร่ยาสูบภาคเหนือ อยากเลิกปลูกยาสูบ พิษโครงสร้างภาษีบุหรี่ปี 60 ทำบุหรี่นอกราคาถูกกว่าบุหรี่ไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวไร่ยาสูบเกือบ 30,000 ครัวเรือน เสนอรัฐ ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ พร้อมหนุนทำเกษตรทดแทนอย่างจริงจัง

27 กันยายน 2564  จากการปรับโครงสร้าง “ภาษีบุหรี่ใหม่” ที่จะเริ่มบังคับใช้ตามกำหนดเดิม 1 ต.ค. 64 หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีครั้งล่าสุด เมื่อปี 2560 จนส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยาสูบ ยอดจัดเก็บภาษีบุหรี่เข้ารัฐลดลง มิหนำซ้ำรายได้ของชาวไร่ยาสูบยังลดฮวบ ปัญหาบุหรี่เถื่อนระบาด บุหรี่ไฟฟ้าขายเกลื่อน และยังสร้างบาดแผลครั้งใหญ่ให้กับการรณรงค์ลดละเลิกการสูบบุหรี่  

 

มีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาส่งสัญญาณถึงประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ไม่เพียงตัวเลขเงินที่จะนำเข้ารัฐ แต่การปรับภาษีใหม่ ยังส่งผลต่อความคาดหวังที่จะป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กเยาวชนอีกด้วย และอีกหนึ่งผลกระทบตรงๆ คือ "ชาวไร่ยาสูบ"

 

ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ ปี 2560 ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบในภาคเหนือ เพราะเปิดโอกาสให้บุหรี่ต่างประเทศอาศัยช่องว่างในการลดราคาบุหรี่ให้ถูกลง ผู้สูบจึงหันไปสูบบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของการยาสูบแห่งประเทศไทยลดลง

 

จากที่เคยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 67 ในปี 2560 เหลือเพียงร้อยละ 43 ในปี 2562  จึงทำให้มีความต้องการใช้ใบยาสูบในประเทศลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่เคยมีความต้องการอยู่ที่ 24 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือเพียง 14 ล้านกิโลกรัมต่อปี  ส่งผลให้โควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบลดลงตามไปด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบยาสูบลดลงกว่า ร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท  มีการประมาณการว่ารายได้ครัวเรือนชาวไร่ยาสูบลดลงประมาณ 30,000 บาท - 70,000 บาทต่อครอบครัว  ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวไร่ยาสูบเกือบ 30,000 ครัวเรือน 

"จากการสำรวจของเครือข่ายนักวิชาการภาคเหนือพบว่า ชาวไร่ยาสูบในเขตภาคเหนือมากกว่าครึ่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 68.6 ต้องการเลิกปลูกยาสูบ แต่ยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า และไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และทักษะอาชีพที่จำเป็น รวมถึงยังไม่มีความมั่นใจในนโยบายของภาครัฐและนโยบายของการยาสูบแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาสนับสนุนการสนับสนุนการปลูกพืชทางเลือกหรืออาชีพทดแทนการปลูกยาสูบ"

 

พิษโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทำรายได้หด ชาวไร่อยากเลิกปลูก

 

 “หากรัฐบาลมีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น นอกจากจะช่วยให้รัฐมีรายได้จากภาษียาสูบเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐควรจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งจากภาษีบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นมาจัดทำโครงการ หรือกองทุนสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรม หรือการปลูกพืชทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การออกแบบหลักสูตรให้ความรู้หรือฝึกอบรมอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการเริ่มต้นเพื่อการทำเกษตรกรรมหรือปลูกพืชทดแทนหรือเปลี่ยนอาชีพทางเลือก รวมทั้งการให้ทุนการศึกษากับบุตรหลานชาวไร่ยาสูบที่มีแผนจะเลิกปลูกยาสูบ”  ผศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว  

logoline