svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิจัย หนุนใช้พืชกระท่อมเป็นยา ไม่แนะนำกินเป็นอาหาร

14 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นักวิจัย มธ.” หนุนใช้พืชกระท่อมเป็นยา ชี้สรรพคุณแก้ปวด ท้องเสีย บิด ลดน้ำตาลในเลือด แต่ไม่แนะนำกินเป็นอาหาร

14 กันยายน 2564 รศ.อรุณพร อิฐรัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวถึงการบริโภคพืชกระท่อมอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ว่า กระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร แต่หากบริโภคเกินขนาดก็จะมีผลข้างเคียง และทำให้ติดได้ เนื่องจากในกระท่อมมีสารไมทราไจนีน “Mitragynine” เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่างมาก มีโทษต่อร่างกายที่ทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มฝัน มึนงง เหงื่อออก ทนต่อความหนาวไม่ได้ และนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะฝันแบบที่ไม่ควรฝัน

 

“อย่าง 4×100 ที่ผสมกระท่อมกับน้ำอัดลม ถ้าใช้ในลักษณะนี้คิดว่าจะทำให้มีโอกาสติดได้ง่าย เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวาน มันจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว” รศ.อรุณพร กล่าว

วิธีการบริโภคกระท่อมที่ถูกต้อง คือ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วนๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ไมทราไจนีนออกมา และไม่ควรกลืนกาก เพราะอาจจะทำให้เกิด “ถุงท่อม” ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องซึ่งจะทำให้ปวดท้องได้ เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก หากรับประทานบ่อยๆ อาจจะขับออกไม่หมด จะทำให้ท้องผูกได้

 

อย่างไรก็ตาม รศ.อรุณพร กล่าวว่า ในส่วนของขนาดที่ใช้กระท่อมเองนั้น ถ้าใช้มากเกิน 10-25 กรัม จะทำให้มีเหงื่อออก มึนงง เคลิ้มฝัน หลอน ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ แต่จากการติดตามดูการขายกระท่อมในตลาดออนไลน์ น่าเป็นห่วงมาก หากมีการนำมาใช้ผิดวิธี แล้วเกิดอะไรขึ้น เกรงว่าต่อไปกระท่อมจะถูกห้ามใช้อีก

logoline