svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

นักวิชาการ&นักพัฒนาเอกชน จับเท็จ "อาพะ" พิธีกรรมแลกชีวิต

08 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“นักวิชาการ - ที่ปรึกษากรรมาธิการกิจการเด็ก” เห็นตรงกัน ประเทศเมียนมาไร้พิธีกรรม “นำชีวิตแลกชีวิต” สังเวยความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ แม้แต่คนชายขอบ ชาติพันธุ์ที่ราบสูง ใช้แค่กระดูกขาไก่ ทำนายอนาคต คาดการหาประโยชน์จากเด็ก แต่ยังต้องรอการพิสูจน์

จากคำให้การของ นายอาผะ ชายชาวเมียนมา วัย 44 ปี ผู้ต้องสงสัย ที่ยอมเปิดปากกับตำรวจว่า เป็นผู้นำตัว “น้องจีน่า” ไปทิ้งไว้ปากถ้ำ บนเขา ห่างจากบ้านเพียง 3 กิโลเมตร โดยอ้างว่าเป็นการนำตัวไปถวายให้เจ้าป่าเจ้าเขา  

 

วันที่ 8 กันยายน 2564 นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวด้วยความแปลกใจว่า ปัจจุบัน ความเชื่อของคนเมียนมา ไม่มีคำว่า บูชายัญ มานานมากแล้ว  เพราะการนำชีวิตไม่ว่าคน หรือสัตว์ไปใช้ในพิธีกรรม ถือเป็นความเชื่อนอกรีต ถูกรัฐบาลปราบปรามไปตั้งแต่สมัยพุกาม จึงค่อนข้างชัดเจนว่า คนที่พูดว่า อุ้มเด็กไป บูชายัญ จึงไม่น่าใช่ชาวเมียนมา จริงๆ  แต่อาจเป็นชนชาติพันธุ์ใด ชาติพันธุ์หนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา  

 

ทุกวันนี้ การเซ่นไหว้ ส่วนใหญ่เป็นการใช้สิ่งของมากกว่า เช่น การจุดธูป เทียน เซ่นไหว้ดวงวิญญาณ สิ่งเหนือธรรมชาติ หรืออย่างมากที่สุดกับชนเผ่าในพื้นที่ราบสูง เช่น กะเหรี่ยงแดง ใช้กระดูกไก่ที่ตายทั้งเป็น นำมาเปรียบเทียบลักษณะ กระดูกขา ที่นำมาวาง 2 ข้างคู่กัน เพื่อทำนายอนาคต  

 

ตอนนี้ผมไม่รู้ว่า คนที่อ้างการบูชายัญ เป็นใคร มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไหน ถึงระบุได้ชัด ก็ไม่น่าเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะความเชื่อทำนองนี้แทบไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว สุดท้ายที่ต้องพิสูจน์ คงเป็นสภาพจิตใจ ที่คงพอทำให้เรามองไปที่ประเด็นการหาประโยชน์จากตัวเด็ก

"ปัจจุบัน ความเชื่อของคนเมียนมา ไม่มีคำว่า บูชายัญ มานานมากแล้ว  เพราะการนำชีวิตไม่ว่าคน หรือสัตว์ไปใช้ในพิธีกรรม ถือเป็นความเชื่อนอกรีต ถูกรัฐบาลปราบปรามไปตั้งแต่สมัยพุกาม"

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษา กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประจำสภาผู้แทนราษฎร (ที่ปรึกษา กรรมาธิการ กลุ่มชาติพันธุ์ฯ ประจำสภาฯ) ระบุว่า ปัจจุบัน ไม่มีอีกแล้วกับการบูชายัญ หรือการนำชีวิตคนไปสังเวย ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่า ชีวิตจะอยู่รอด ก็ต้องเอาชีวิตไปมอบให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผี เพื่อแลกกับความมั่นคงในชีวิตของผู้คนในเผ่า ในชุมชน ซึ่งกลุ่มสุดท้ายที่อาจหลงเหลือการบูชายัญ เข้าใจว่า คือ กลุ่มว้าในเขตเมียนมา ซึ่งไม่มีใครกล้ายืนยัน

 

การบูชายัญ ในอดีต ยุคที่ผู้คนอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ยังห่างไกลความเจริญมากๆ แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการ ทรัพยากรของรัฐ ความเชื่อหลายๆ เรื่อง จึงมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยแง่บวก มีลักษณะ สนับสนุนให้เกิดแรงศรัทธาในการทำความดี เพิ่มพลังความศรัทธา ที่จะนำมาซึ่งการส่งเสริมการดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ส่วนแง่ลบ ความรู้ในทางโลก ไม่มีความก้าวหน้า เป็นไปในทางไสยศาสตร์ ไม่อาจรักษาโรคภัยได้จริง 

 

แต่เฉพาะการบูชายัญ  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความเจริญแพร่หลายเข้าสู่ชุมชน ความเชื่อลักษณะนี้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  จากที่เคยฝั่งคนไปพร้อมกับเสาเมือง เปลี่ยนมาเป็นสัตว์ใหญ่อย่าง “ช้าง” ก่อนจะถูกย่อขั้นตอนพิธีกรรมให้เหลือแค่การนำช้างมาแก้บน แล้วเปลี่ยนมาเป็นการล้มวัว - ควาย ซึ่งถือเป็นการลดขนาดของสัตว์ใหญ่ เมื่อกาลผ่านไป การฆ่าสัตว์ใหญ่ก็ถูกลดทอนขนาดเหลือเพียงการฆ่า หมู่ ไก่ มากขึ้น จนปฏิบัติกันทุกวันนี้  แต่ปัจจุบันการทำพิธี ยังพบการปรับเปลี่ยนลดทอนรูปแบบ โดยใช้รูปปั้นไก่ รวมถึง การใช้น้ำอัดลม “น้ำแดง” ซึ่งถูกนำมาใช้แทน “เลือด” เป็นเครื่องเซ่นไหว้แทน 

ที่ปรึกษา กรรมาธิการกิจการกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ประจำสภาฯ ระบุอีกว่า สำหรับประเด็นการขโมยเด็กขึ้นรถตู้นั้น มองว่าเป็นความเชื่อที่ถูกเล่าสืบต่อกันมา แต่หลังจากได้มีโอกาสร่วมทำงานกับมูลนิธิกระจกเงา ก็ไม่เคยพบว่ามีความจริง และสุดท้ายกลายเป็นคำโกหกของเด็กที่แอบหนีโรงเรียน แล้วกุเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะไม่อยากโดนพ่อ แม่ ลงโทษ

 

อย่างไรก็ตาม คำสารภาพของคนที่อุ้มน้องจีน่า ระบุ เป็นการนำเด็กไปบูชายัญ ก็ไม่ขอสรุป เพราะยังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกหลายเรื่อง แต่หากเป็นเรื่องจริง ก็อยากให้สังคมไทย ตั้งอยู่บนความมั่นคงทางจิตใจด้วย และรับฟังว่า อะไร ที่กลายเป็นที่มาให้ชายคนนี้ลงมือกระทำกับน้องจีน่า 

นักวิชาการ&นักพัฒนาเอกชน จับเท็จ "อาพะ" พิธีกรรมแลกชีวิต

logoline