svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดความเชื่อ ! ทำไมต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ?

08 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเชื่อเรื่อง “การบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา” เป็นเรื่องที่คุ้นหูคนไทยมายาวนาน โดยเฉพาะจากข่าวดังหลายข่าวที่ผ่านมาจนอาจมีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา

จากข่าวดังหลาย ๆ ข่าวที่ผ่านมา ทั้งกรณี 13 หมูป่า ติดถ้ำหลวง ที่จังหวัดเชียงรายจนโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งก่อนจะได้รับการช่วยเหลือได้มี "พิธีกรรมบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา" เพื่อเปิดทางขอให้คุ้มครองและหาตัวบุคคลที่สูญหายให้พบ หรือแม้กระทั่งประเด็นน้องจีน่าที่หายตัวไปกว่า 4 วันที่ อ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแม้ยังไม่ยังไม่สรุปสาเหตุการณ์หายตัวไปแต่ได้มีการพาดพิงถึงความเชื่อเรื่องการ “บูชาเจ้าป่าเจ้าเขา” ด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้ เว็บไซต์ “กรมศิลปากร” โดย สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ได้ให้ข้อมูลเรื่องเทวดาในวัฒนธรรมไทย โดยระบุถึง “เจ้าป่าเจ้าเขา” ว่าเป็น“เทวดาประจำถิ่น” ในประเพณีไทยเทวดาประจำท้องถิ่นนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ เทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่นที่ เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นใหญ่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ  บางครั้งอาจเรียกว่า เทพารักษ์ หรือหากเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา  

 

เปิดความเชื่อ ! ทำไมต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ?

 

นอกจากนี้ ในหลายกรณี เมื่อบรรพบุรุษของครอบครัวหรือชุมชนเสียชีวิตลงก็อาจมีการยกย่องให้เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจรวมได้เป็นเทวดาประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่งด้วย

 

สำหรับคติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นสามารถพบได้ในพิธีและประเพณีหลายอย่างของไทย  นัยว่าหากเราต้องดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่หรือสิ่งใด รวมถึงถ้าจะทำกิจการงานใดเป็นพิเศษ ก็จำต้อง “สังเวย” บอกกล่าวให้เทวดาทราบ เพื่อความสุขสวัสดีหรือบันดาลการบรรลุผลสำเร็จตามแต่กรณี  มิฉะนั้นหากมิได้บวงสรวงสังเวยหรือปฏิบัติผิดจารีตธรรมเนียม   เทวดาอาจจะบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆได้ 

 

เปิดความเชื่อ ! ทำไมต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ?

 

การบวงสรวงสังเวยนี้ มีอาทิ การตั้งศาลหรือหอ ในกรณีของเทวดาพระภูมิเจ้าที่  การไหว้ครู ในกรณีของเทวดาแห่งศิลปวิทยาต่างๆ  การบวงสรวงเมื่อจะทำการตัดโค่นไม้ใหญ่ ในกรณีของรุกขเทวดา  หรือหากคนไทยสมัยก่อนจะปลูกเรือนก็ต้องบวงสรวงทำบัตรพลีไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาพื้นดินก่อน  บัตรพลีดังกล่าวมีหมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น

สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ ได้สรุปให้ด้วยว่า คติความเชื่อเรื่องเทวดาหรือเทพเจ้าในสังคมไทยนี้มีมาแต่ครั้งก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยในชั้นต้นความเชื่อเรื่องเทวดาน่าจะมีอยู่ในรูปของเทวดาประจำถิ่น หรือเทวดาที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้วครั้นเมื่อชาวไทยยอมรับนับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทวดาจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนโดยเฉพาะในคติทางศาสนาพราหมณ์

 

อย่างไรก็ตามคติความเชื่อเรื่องเทวดาก็ได้ผสมผสานกันในพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่น โดยจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไปตามกลุ่มชนหรือพิธีกรรมต่างๆ และยังคงเป็นความเชื่อที่ดำเนินคู่ไปกับหลักการทางศาสนามาตราบจนปัจจุบัน

 

เปิดความเชื่อ ! ทำไมต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ?

logoline