svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

WHO จับตา "มิว" โควิดสายพันธุ์ใหม่ แนวโน้มดื้อต่อวัคซีน

02 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอเฉลิมชัย เผยองค์การอนามัยโลก กำลังเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ "มิว" โดยจัดชั้นเป็นกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตาลำดับที่ห้า พบมีแนวโน้มจะดื้อต่อวัคซีนหลากหลายชนิด

2 กันยายน 2564 น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า..


ด่วน องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “มิว” มีแนวโน้มจะดื้อต่อวัคซีนหลากหลายชนิด จัดเป็นไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI)

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานประจำสัปดาห์ แจ้งให้ทั่วโลกทราบว่า ได้เพิ่มเติมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ มิว (Mu) ให้อยู่ในกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI : Variant of Interest ) ซึ่งก่อนหน้านี้มีอยู่แล้ว 4 ชนิด "มิว" จึงจัดเป็นลำดับที่ห้า

 

เหตุผลที่ต้องจัดให้ ไวรัสมิว อยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามอง เพราะจากการศึกษาตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ไวรัสจะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และสามารถเจาะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ อันจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง หรือดื้อต่อวัคซีน นั่นเอง

WHO จับตา "มิว" โควิดสายพันธุ์ใหม่ แนวโน้มดื้อต่อวัคซีน

ไวรัสมิว พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบีย ในเดือนมกราคม 2564 ขณะนี้แพร่ระบาดคิดเป็น 39% ของประเทศโคลอมเบีย และระบาดในประเทศเอกวาดอร์ 13%

 

แต่ยังไปไม่มากนักในระดับโลก พบเพียง 0.1% แต่เคยระบาดเป็นกลุ่มก้อนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้มาแล้ว

 

ไวรัสมิว มีรหัสเรียกว่า B.1.621

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนของไวรัสชนิดนี้ว่า จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

 

การจัดกลุ่มของไวรัสก่อโรคโควิด แยกเป็นสองระดับ ได้แก่

  • กลุ่มที่น่าเป็นกังวล ( VOC : Variant of Concern ) มีสี่สายพันธุ์ ประกอบด้วย
  1. อัลฟา พบกันยายน 2563 
  2. เบตา พบพฤษภาคม 2563 
  3. แกมมา พบพฤศจิกายน 2563 
  4. เดลตา พบตุลาคม 2563

 

WHO จับตา "มิว" โควิดสายพันธุ์ใหม่ แนวโน้มดื้อต่อวัคซีน

  • ไวรัสกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มที่ต้องจับตามอง (VOI) ประกอบด้วย
  1. อีตา-Eta พบธันวาคม 2563 
  2. ไอโอตา-Iota พบพฤศจิกายน 2563 
  3. แคปปา-Kappa พบตุลาคม 2563 
  4. แลมป์ดา-Lambda พบธันวาคม 2563
  5. สายพันธุ์ใหม่ล่าสุด "มิว" Mu พบเมื่อมกราคม 2564

 

ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่สร้างปัญหาให้ชาวโลกต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างมาก เพราะตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา มีการกลายพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 39 สายพันธุ์หลัก และอีกหลายสิบสายพันธุ์ย่อย

 

แต่ละสายพันธุ์ ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป และมีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะมีบางสายพันธุ์ ทั้งแพร่เร็ว ดุร้ายก่อให้เกิดอาการหนัก และดื้อต่อวัคซีน

 

ถ้าเราเจอไวรัสโควิด-19ที่กลายพันธุ์ ในลักษณะอย่างนั้น โลกคงจะอยู่ในสถานการณ์วิกฤติของโรคระบาดครั้งใหญ่ทีเดียว การลดความเสี่ยง ไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ง่ายคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ไวรัส หยุดระบาดหรือกลายเป็นโรคประจำถิ่นธรรมดา และมีวินัยในการป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่ เพราะไวรัสจะกลายพันธุ์ได้มาก ถ้ามีการระบาดติดเชื้อกว้างขวามาก

 

ขอบคุณข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ
 

logoline