svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดในอนาคต อาจกลายพันธุ์จนไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์

25 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอเฉลิมชัย จับตาการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ดีในอนาคต หลังพบไวรัสเดลตา 4 สายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย ไม่ส่งผลความรุนแรงของโรค หรือการดื้อต่อวัคซีน สุดท้ายกลายพันธุ์อาจจะทำให้ โควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์

25 สิงหาคม 2564 น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความลงใน Blockdit "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ถึงการพบไวรัสเดลตา เพิ่มขึ้นอีก 4 สายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย แต่ไม่พบความรุนแรงของโรค หรือการดื้อต่อวัคซีน ซึ่งการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สุดท้ายอาจจะกลายเป็นเรื่องดี มีรายละเอียดดังนี้...
 

ต้องจับตามอง ไทยพบไวรัสเดลต้าเพิ่มขึ้นอีก 4 สายพันธุ์ย่อย ยังไม่พบผลกระทบต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค และการดื้อต่อวัคซีน

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ข้อมูลเรื่องการค้นพบสายพันธุ์ย่อย (Subtype) ของไวรัสเดลตา (Delta) โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้..


จากการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งทำเป็นประจำมาทุกสัปดาห์ ในสัปดาห์ล่าสุด (14-20 สิงหาคม 2564) พบไวรัสสายพันธุ์เดลตา เป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 92.9 % (2132 ตัวอย่าง) อัลฟา 5.8% (134 ตัวอย่าง) เบตา 1.3% (29 ตัวอย่าง) จากการถอดรหัสจีโนมทั้งสิ้น 2,295 ตัวอย่าง


ที่สำคัญ ในระหว่างการวิเคราะห์สายพันธุ์ดังกล่าว ตรวจพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาเพิ่มขึ้นมาอีก 4 สายพันธุ์
 

หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดในอนาคต อาจกลายพันธุ์จนไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์

 

ในขณะนี้พบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาทั่วโลกแล้วกว่า 20 สายพันธุ์ คือ AY.1-AY.25 โดยในประเทศไทยพบ 7 ราย เป็น AY.4 AY.6, 10 ,12


ข้อมูลล่าสุดในขณะนี้ ทุกสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาทั่วโลก รวมทั้งที่พบในไทยด้วย ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญแตกต่างไปจากไวรัสแม่คือสายพันธุ์เดลตา ทั้งเรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด การก่ออาการโรคที่รุนแรง และผลกระทบต่อวัคซีน


ลองมาทำความรู้จัก เรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ (Variant) และลงรายละเอียดไปถึงสายพันธุ์ย่อย (Subtype) ซึ่งอาจจะมีผลในอนาคต 15 ประเด็น ดังนี้..

 

1. โรคโควิด-19 เกิดจากไวรัสกลุ่มโคโรนา ในลำดับที่เจ็ด

2. ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยวอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายโดยธรรมชาติ

3. การกลายพันธุ์ของไวรัส (Mutation) คือ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลสารพันธุกรรม (Genetic Information) ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ให้ต่างไปจากเดิม

4. ไวรัสก่อโรคโควิด มีความยาวของสารพันธุกรรมอยู่ประมาณ 30,000 ตำแหน่งเบส (Base)

5. ถ้าสารพันธุกรรมตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เกิดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะเรียกว่าเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งเกิดอยู่สม่ำเสมอตลอดเวลา

ถ้ามีการแพร่ระบาดมาก (Pandemic) ก็จะเกิดการกลายพันธุ์ที่มากเป็นเงาตามตัว เพราะในจังหวะที่ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ หลังจากก่อให้เกิดการติดเชื้อ จะเป็นช่วงที่มีการถ่ายทอดสารพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูก ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดจนเกิดกลายพันธุ์ได้ ซึ่งในขณะนี้มีหลายสิบชนิดแล้ว

6. ไวรัสที่กลายพันธุ์ จะถูกจัดกลุ่มจากความสำคัญน้อยไปหามาก ดังนี้..

  • 1 ไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม ( VUI : Variant Under Investigation ) ตรวจพบการกลายพันธุ์แต่ยังไม่มีนัยสำคัญ
  • 2 ไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ ( VOI : Variant Of Interest ) พบการกลายพันธุ์ที่มีพัฒนาการจนกระทบกับภูมิคุ้มกันของมนุษย์
  • 3 ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง ( VOC : Variant Of Concern ) พบว่าไวรัสนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจนกระทบต่อมนุษย์ชัดเจน ในสามประเด็น คือ 1. เพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อมากขึ้น (Transmissibility) 2. ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น (Virulence) และ 3. กระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีน ยารักษาโรค หรือการตรวจวินิจฉัยโรค

หมอเฉลิมชัย ชี้โควิดในอนาคต อาจกลายพันธุ์จนไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์

 

7. ในโลกของเราพบ VOC ครั้งแรกที่อังกฤษ ตั้งชื่อว่าอัลฟา เมื่อเดือนกันยายน 2563 ตามด้วยการพบสายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้)  แกมมา(บราซิล) และเดลตา(อินเดีย)
8. ไวรัสสายพันธุ์เดลตา พบครั้งแรกที่อินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม 2563  ส่วนในประเทศไทยพบในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ตามหลังอัลฟาซึ่งพบในเดือนเมษายน 2564
9.ถ้าการกลายพันธุ์เกิดเล็กน้อย ไม่ต่างจากสายพันธุ์แม่ จะเรียกว่าสายพันธุ์ย่อย (Subtype) ซึ่งขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีมากกว่า 20 สายพันธุ์ย่อยแล้ว เพราะแพร่ระบาดเร็วและกว้างขวาง จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศทั่วโลก แต่ถ้าการกลายพันธุ์นั้น เปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์แม่มาก ก็จะเป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (Variant)

10. สายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาเรียกรหัสว่า AY. โดยไวรัสสายพันธุ์เดลตาคือ B.1.617.2
สายพันธุ์ย่อยจะชื่อว่า B.1.617.2.AY.1  B.1.617.2.AY.2 ไปตามลำดับ
11. สายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาสามลำดับแรกเรียกว่า เดลตาพลัส ( Delta Plus )
12. ประเทศไทยขณะนี้ พบสายพันธุ์ย่อยแล้ว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ AY.4,6,10 และ 12 แต่มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างมากนักจากสายพันธุ์แม่
13. การกลายพันธุ์ของไวรัส จะยังมีต่อไป ตราบที่มีการแพร่ระบาด ยิ่งระบาดมาก ก็จะมีการกลายพันธุ์มาก ถ้าระบาดน้อยก็จะกลายพันธุ์น้อย

การกลายพันธุ์ของไวรัส มีผล ออกไปได้สามทางคือ..  

  1. สร้างความรุนแรงมากขึ้น
  2. ความรุนแรงเท่าเดิม
  3. ความรุนแรงน้อยลง

14. ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบข้อมูลยืนยันว่า ไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อย แตกต่างจากสายพันธุ์แม่ทั้งในด้านการแพร่ระบาด อาการของโรค  และผลกระทบของวัคซีน

15. การกลายพันธุ์นั้น ถ้าเกิดไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น หรืออาการรุนแรงน้อยลง

 

อาจเป็นโชคดีของมนุษยชาติก็ได้ ถ้าไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว แต่ก่ออาการรุนแรงที่น้อยลง ไปจนถึงไม่ก่อโรคในมนุษย์

 

โควิด-19 ก็อาจจะยุติการระบาดโดยความบังเอิญ จากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของไวรัสโคโรนาก็เป็นได้

 

ขอบคุณ ข้อมูลและภาพ จาก : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

logoline