svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

รองโฆษกตร. แจงข่าวบิดเบือน-ลดค่าคุ้มครองเงินฝาก

09 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รองโฆษกตร. แจงข่าวบิดเบือน ลดค่าคุ้มครองเงินฝาก-สถาบันการเงินเสี่ยงล้ม ระบุปรับลดวงเงิน “รักษาเสถียรภาพระบบ-คุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย” ยันเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง  ส่วนผู้ประกาศปรับลดวงเงิน คือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ใช่ธนาคารแห่งประเทศไทย 

วันที่ 9 สิงหาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่ามีการตรวจพบข่าวบิดเบือนเพิ่มเติม 1 กรณี คือ

กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ลดค่าคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย เพราะสถาบันการเงินเสี่ยงล้ม นั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าเป็นข่าวบิดเบือน ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่าข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงมีดังนี้

รองโฆษกตร. แจงข่าวบิดเบือน-ลดค่าคุ้มครองเงินฝาก

 

1. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA (https://www.dpa.or.th/articles/cat/about-dpa) เป็นผู้ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก โดยมีการปรับลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ซึ่งการปรับลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดยมีวัตถุประสงค์ 2 เรื่อง คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด

 

2. ในปัจจุบันฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังแข็งแกร่ง มีการดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง และมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02-283-5353

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ ผู้ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากคือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ไม่ใช่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด

 

รองโฆษกตร. กล่าวว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

 

logoline