svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.ยังไม่แนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กทั่วไป

31 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

​กรมอนามัยยังไม่แนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กทั่วไป ย้ำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ในกลุ่มเด็กเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต้องเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็กเท่านั้น พร้อมแนะผู้ปกครองคุมเข้มตนเองลดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิดสู่ลูก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 63 – 25 ก.ค. 64 พบเด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ 13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ  2 เดือน โดยพบว่าเด็กทั้ง 2 รายที่เสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว 

และจากสถานการณ์ของโรคที่เสี่ยงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า 1.ยังไม่แนะนําวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม และ  2.แนะนําให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง  

 


โดยขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 64 และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ ในระหว่างดำเนินการ ส่วนวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 - 17 ปี ที่วิจัยพบว่าในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ในเด็ก และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต 
 

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก เว้นห่างไว้  ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่ลูก
 

logoline