svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สูตินรีแพทย์ มอบอำนาจ"ศรีสุวรรณ" ร้องศาลรธน.วินิจฉัย กม.ทำแท้งเสรีขัดรัฐธรรมนูญ

27 มิถุนายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สูตินรีแพทย์ มอบอำนาจ "ศรีสุวรรณ" ร้องศาลรธน.วินิจฉัยกฎหมายทำแท้งเสรีขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังประกาศใช้เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และศาลรธน.ได้สั่งแก้ไขแล้วครั้งหนึ่ง แต่แก้เกินกว่าที่ศาลวินิจฉัย พร้อมยื่นเรื่องพรุ่งนี้

วันนี้ (27 มิ.ย.64) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า คณะของแพทย์หญิงทางเวชกรรม สูตินรีแพทย์จำนวนมาก มอบฉันทะให้สมาคมฯยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอใช้อำนาจตาม ม.231 ของรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 ใน ม.301 ม.305(3) ม.305(4) และ ม.305(5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.26 ประกอบ ม.4 ม.25 ม.26 ม.27 ม.28 ม.50(6) และ ม.77 วรรคสอง หรือไม่

ทั้งนี้หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.64 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายห้ามทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเป็น "ข้อเสนอแนะ" ว่า "ประมวลกฎหมายอาญา ม.301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.28 ส่วนประมวลกฎหมายอาญา ม.305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญม.27 ม.28 และม.77 และสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งเพื่อให้สอดคล้องต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน"

เมื่อกฎหมายดังกล่าวได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว แต่แก้ไขเกินไปกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจำต้องทำแท้งให้คนท้อง เป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจแพทย์ที่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก แม้ในทางกฎหมายจะยังไม่ถือว่าทารกในท้องยังไม่มี "สภาพบุคคล" แต่ในทางการแพทย์ตามศัพภวิทยา (Embryology) ระบุว่า "เด็กอายุครรภ์ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์นั้น มีอวัยวะต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว มีอวัยวะเพศชัดเจน มีหัวใจเต้นเร็ว มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เนื่องจากระบบประสาททำงานแล้ว มิใช่เป็นเพียงก้อนเลือดอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ การที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกที่มีอายุครรภ์ดังกล่าว จึงชัดเจนว่าเป็นการทำลายมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นบาดแผลในจิตใจของแพทย์ผู้กระทำและมารดาไปตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ทุกคนมีหน้าที่สำคัญในการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นมโนธรรมชั้นสูง"

อีกทั้ง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ยึดมั่นในศีล 5 ข้อเป็นหลักนำทางชีวิต และข้อที่หนักและสำคัญที่สุดคือ ศีล ข้อที่หนึ่ง เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หากละเมิด ย่อมรู้สึกขัดแย้งภายใน ความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม บาปบุญ ต่อตัวเองและครอบครัว เป็นปัจเจกบุคคล จะล้มล้างไม่ได้

กฎหมายดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทบต่อมโนธรรมขั้นสูงของความเป็นแพทย์ และจะสร้างบาดแผลในจิตใจของแพทย์ผู้กระทำและมารดาของทารกไปตลอดชีวิต ซึ่งชัดเจนว่าจะเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์ จึงเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อ ม.26 ประกอบ ม.4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตรง

ด้วยเหตุดังกล่าว แพทย์ทางเวชกรรม สูตินรีแพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องนำความนี้ยื่นเป็นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันจันทร์ที่ 28 มิ.ย.64 เวลา 10.00 น. ณ ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ อาคาร A เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า การตรากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตราหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

logoline