svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

แพทย์มองการสะท้อนปัญหาต้องมีข้อเท็จจริง-ข้อมูลชัดเจน

24 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น มองว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์เป็นเรื่องที่ดี ทำให้สังคมได้ประโยชน์ และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่การให้หาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงพูดคุยกันด้วยเหตุผล อย่าพูดเอาสนุกเพียงอย่างเดียว

จากที่มีการติดแฮชแทก #นักศึกษาแพทย์เลว โดยกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ ระบุว่า "ในช่วงที่ผ่านมา การพูดถึงปัญหาและวัฒนธรรมเลว ๆ ในโรงเรียนแพทย์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในแฮชแท็ก #นักศึกษาแพทย์เลว บนทวิตเตอร์และเฟสบุค ทางนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตยขออาสาเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนแพทย์ผู้ถูกกดขี่ทุกท่านได้มาระบายผ่านทางเรา DO YOU HEAR นักเรียนแพทย์ SING? เปิดรับฟังทุกปัญหาและความชั่วร้ายที่คุณพบเห็นในวัฒนธรรมของโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการบอกเล่าประสบการณ์ บทความ ความคิดเห็น ข้อสังเกต หรือจดหมายเปิดผนึก ส่งมาเถอะ เราอยากอ่าน!!!! คำตอบชิ้นไหนที่น่าสนใจ (ถ้าเป็นไปได้ก็จะลงให้ทุกชิ้นเลย!) ทางนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตยจะขอนำมาเผยแพร่ต่อเพื่อกระจายเสียงของท่านให้ทุกคนได้ยิน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสักวัน "พวกท่านเหล่านั้น" จะได้ยินเสียงของเรานั้น

24 พฤศจิกายน 2563 แพทย์หญิงกนกวรรณ ศรีรักษา อดีตประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น รวมทั้งเป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ กล่าวว่า ระบบการเรียนการสอนของแพทย์มีความแตกต่างกับการเรียนการสอนในวิชาชีพอื่นๆ การเรียนการสอนเป็นแบบพี่สอนน้อง ทั้งรุ่นพี่ระหว่างชั้นปี หรือระบบอาจารย์ที่สอนก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ เน้นเรื่องการฝึกปฏิบัติกับคนไข้สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นข่าว เช่น เรื่องการบูลลี่ การคุกคามทางเพศ ไม่ได้มีเฉพาะวงการแพทย์ เชื่อว่ามีทุกวงการ ที่ผ่านมาวงการแพทย์อาจจะไม่เคยมีใครออกมาพูด เพราะบางประเด็นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นสิ่งไม่ถูกต้องการออกมาพูดคุยเป็นเรื่องปกติ"ที่ผ่านมาอาจจะไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาแพทย์ ส่วนหนึ่งคือการเรียนหนัก จนแทบไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่น การออกมาแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้คิดถึงเรื่องสังคม เรื่องส่วนรวม อย่างไรก็ตามการพูดคุยขอให้พูดคุยกันด้วยเหตุผล อย่าพูดเอาสนุกเพียงอย่างเดียว"การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนในช่วงที่ผ่านมา แพทย์หญิงกนกวรรณ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เยาวชนเกิดการตื่นตัวและสนใจประเด็นการเมืองในระดับชาติ ซึ่งมองว่าจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์จากการแสดงความคิดเห็นนี้ ทั้งนี้การพูดคุยประเด็นทางการเมืองต้องเป็นเรื่องที่สนใจ เมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นจะต้องมีการศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านด้วยตัวเอง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้ที่ผ่านมาเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ "ไผ่ ดาวดิน" นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญอีกคน

แพทย์มองการสะท้อนปัญหาต้องมีข้อเท็จจริง-ข้อมูลชัดเจน

"การพูดคุยกับไผ่ในครั้งนั้น เพราะคิดว่ามีชุดข้อมูลที่ไม่ตรงกันของคนต่างเจนเนอเรชันกัน ที่รับข้อมูลมาต่างกัน การพูดคุยเพราะต้องการแชร์ข้อมูลในมุมมองของเรา และรับฟังข้อมูลของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของข้อมูลที่แต่ละรุ่นได้รับ จึงมีการศึกษาข้อมูลของทั้งสองฝ่ายอย่างละเอียด ว่าแตกต่างกันในประเด็นใดบ้าง ต่างจากข้อมูลที่เรารู้มาอย่างไร เพราะหากไม่มีข้อมูลไปพูดคุยก็คงจะทำให้เข้าใจกันยาก ในฐานะที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ และสายทางการแพทย์ เราจะสอนนักศึกษาแพทย์เสมอว่า การรักษาคนไข้ให้ทำบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ หมายถึง การรักษาคนไข้ของหมอ ขอให้หาข้อมูลหลักฐานว่าวิธีใดสามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ ไม่ใช่การรักษาตามที่อาจารย์ หรือรุ่นพี่บอกว่าวิธีนี้ได้ผล ซึ่งคล้ายกับการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เช่นกัน เมื่อมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน เราก็ต้องหาข้อมูล ข้อเท็จจริงว่าการปฏิรูปสถาบันมีความหมายว่าอย่างไร ไม่ทำตามกระแส การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ใช้เหตุผลเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้สะท้อนหลากหลายมุมมอง ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้รับฟังและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา นอกจากแสดงความคิดเห็นมองเห็นปัญหาแล้ว สิ่งสำคัญคือการเสนอทางออกที่ทำให้คนไข้ปลอดภัย การพูดคุยจึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ นอกจากนี้หากมีนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นก็ไม่มีการห้าม สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่"นอกจากนี้ พญ.กนกวรรณ กล่าวว่า หากมีการพูดคุยในโรงพยาบาล เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือต้องไม่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย เพราะเวลาส่วนใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่คือการดูแลผู้ป่วย และการพูดคุยเรื่องการรักษา ส่วนเวลาว่างก็พยายามจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรให้ เช่น ดนตรี กีฬา หรือนักศึกษาคนใดสนใจประเด็นทางการเมือง ก็สามารถนำมาพูดคุยได้ แต่บรรยากาศการพูดคุยนั้นต้องมีความสร้างสรรค์ เป็นเวทีวิชาการ ไม่ต้องใช้คำพูดรุนแรง เพราะทุกคนคือปัญญาชน"ส่วนในอนาคตที่อาจจะมีบุคลากรทางการแพทย์ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นนั้น จะต้องดูลักษณะของการเคลื่อนไหว หากไม่ผิดจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ควรจะเป็น ก็สามารถทำได้ ทุกวันนี้หากอาจารย์แพทย์ต้องการจะรับแพทย์ประจำบ้าน ฝึกอบรมในสถาบัน อาจารย์แพทย์จะเข้าไปดูโปรไฟล์ เพื่อดูความคิดเห็น ทัศนคติ อย่างไร หากการโพสต์มีเหตุมีผล ไม่ใช้คำหยาบคาย ไม่สุดขั้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อนักศึกษาแพทย์ในเชิงลบ การโพสต์แสดงความคิดเห็นจึงต้องมีสติ มีเหตุและผล ที่ผ่านมามีนักศึกษาแพทย์โพสต์บางประเด็นผ่านทางเฟสบุ๊คที่อาจารย์คิดว่าไม่มีเหตุผล ทำให้เห็นทัศนคติในประเด็นนั้นๆ ทำให้ปฏิเสธการรับนักศึกษา" พญ.กนกวรรณ กล่าว

logoline