svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คำนูณ"เป็นห่วงรัฐบาลไม่ปฏิรูปตำรวจตามที่ รธน.กำหนด

08 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คำนูณ" เป็นห่วงรัฐบาลไม่ปฏิรูปตำรวจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ด้าน "วันชัย" ถามถึงมาตรการสอบประวัติอาชญากรรมพระสงฆ์ ขณะ "เทวัญ" แจง รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจปฏิรูปตำรวจ พร้อมยืนยัน มีระบบตรวจสอบพระสงฆ์ก่อนบวชทุกคน ป้องกันคนมีคดีติดตัว

(8 มิถุนายน 2563) การประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจา โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ถามถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกระบวนการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ปี 2560 ว่า ในเดือนก.ค. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน และใช้เวลาพิจารณา 1 ปี ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนเม.ย. 2561 จากนั้น ครม. มีมติแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง และกระบวนการผ่านมาเรื่อยๆจนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562ทั้งนี้ ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นออกมา สุดท้ายก็กลับเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง และ ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการของ นายมีชัย ขึ้นมาอีกเป็นชุดที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2562 เพื่อพิจารณาอีก และขณะนั้น ก็มีการถามความเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตนได้รับรายงานจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อย และส่งร่างทั้งหมดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วนายเทวัญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปรวมกันที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อครม.ต่อไป และหากเข้าครม.แล้ว จะรีบแจ้งให้ทราบ แต่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่นิ่งนอนใจเรื่องการปฏิรูปตำรวจ มีคำสั่งปฏิรูประยะเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2559 อีกทั้ง ยังดำเนินการคู่ขนาน โดยเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง เส้นทางการเจริญเติบโตของตำรวจ ทุกสายงานต้องผ่านงานด้านสอบสวน การปรับหลักสูตรในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพิ่มพนักงานสอบสวนอีก 1,300 นาย รวมถึงเสริมเรื่องการต่อต้านการทุจริตในหลักสูตรต่างๆ การสร้างอาคารที่พักเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตำรวจ

ขณะที่ นายคำนูณ กล่าวฝากไปยังนายกฯ ว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจนั้น เป็นบทบังคับตามกฎหมาย แล้วผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นความสำคัญได้กำหนดเวลาไว้ 1 ปี ซึ่งส่วนตัวมองว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาฉบับใหม่ ยังอาจมีมุมมองทางกฎหมายแตกต่างกันไปได้ ครม.จึงควรให้ความสำคัญกับบทบังคับตามรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาในฐานะร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้ ซึ่งจะได้ปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยที่ ครม.สามารถตอบสังคมได้ว่า ครม.ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว และส่วนตัวยอมรับว่าอึดอัดเวลาเอ่ยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าบางประเด็นยังไม่ควรแก้ไข แต่สุดท้ายแล้ว ประเด็นในบทถาวร ถูกละเลย ไม่ได้ปฏิบัติ ตนรู้สึกเจ็บปวด

"คำนูณ"เป็นห่วงรัฐบาลไม่ปฏิรูปตำรวจตามที่ รธน.กำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ตั้งถามกระทู้สดด้วยวาจา เรื่องมาตรการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของพระสงฆ์ หลังจากเกิดข่าวคดีจับพระสงฆ์ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เพราะหมายความว่า สำนักพระพุทธศาสนา (พศ.) ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้หรือไม่โดยนายเทวัญ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีวัดอยู่ทั่วประเทศ 42,000 วัด มีพระและเณร 250,000 รูป ยืนยันว่าพยายามดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีการตรวจสอบประวัติพระที่จะบวชค่อนข้างยาก เพราะข้อมูลต่างๆที่จะสื่อสารถึงกันไม่ค่อยเป็นระบบ แต่ในปัจจุบัน พศ. ได้จัดทำบัตรประจำตัวพระ 13 หลัก คล้ายกับเป็นบัตรประชาชน ดังนั้น ใครจะบวชพระ ต้องเช็คประวัติก่อน โดยต้องไม่มีคดีติดตัวมา ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาอย่างไรก็ดี บุคคลที่มีความประสงค์จะบวชพระ จะมีการตรวจสอบและเช็คประวัติอย่างละเอียด ซึ่งเจ้าอาวาสวัดในฐานะพระอุปัชฌาย์จะเป็นผู้ตรวจสอบ โดยส่งไปที่ สตช.เพื่อตรวจสอบว่า บุคคลนั้นๆมีประวัติอะไรติดตัวหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลา 15 วัน ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่า พศ. จะต้องดูแลอย่างเข้มงวดมากกว่านี้ ยืนยันว่าพร้อมรับไปปฏิบัติ แต่ตามปกติแล้ว พศ. จะดูแลเรื่องงบประมาณและการสอบนักธรรมบาลีต่างๆเป็นหลัก เรื่องพระธรรมวินัยของสงฆ์นั้น มหาเถรสมาคมจะเป็นผู้ดูแล และยืนยันว่า จะรับไปปฏิบัติ ตนก็ได้กำชับไปทุกครั้งอยู่แล้ว

logoline