svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิชาการหนุนขึ้น "ภาษีบุหรี่" ช่วยลดปริมาณนักสูบ

10 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการหนุนก.คลัง ปรับภาษีบุหรี่ช่วยลดปริมาณนักสูบ ชี้ โครงสร้างภาษีใหม่ต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชน ลดนักสูบหน้าใหม่ หยุดภาระรายจ่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวถึงมาตรการการขึ้นภาษีบุหรี่ ว่า การควบคุมการบริโภคยาสูบนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำว่า ภาษีเป็นมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีการปรับอัตราภาษีอย่างต่อเนื่อง และกำลังจะมีการปรับภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่ ตาม พ.ร.บ.สรรพามิต ที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะจะทำให้การควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หลักการบริหารการเงินการคลังของประเทศ จะเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้ สิ่งที่รัฐจะได้จากการขึ้นภาษียาสูบ คือ รายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่หากมองถึงผลเสียของการให้ประชาชนสูบบุหรี่ คือ สุขภาพของประชาชนที่เสียไป และภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในการรักษาโรค ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลสุขภาพประชากร เมื่อเทียบระหว่างรายได้ และรายจ่ายที่รัฐต้องเสียไป พบว่า สุดท้ายแล้วรายจ่ายจากการสูบบุหรี่จะมากกว่ากลายเป็นภาระของครัวเรือนและรัฐบาลในที่สุด การขึ้นภาษียาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าไม่ปกติจึงจำเป็นต้องพิจารณาผลดีและผลเสียด้วย

นักวิชาการหนุนขึ้น "ภาษีบุหรี่" ช่วยลดปริมาณนักสูบ


รศ.ดร.สุชาดา กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่ โดยใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีด้วย จากเดิมจะเลือกคิดตามปริมาณหรือมูลค่าอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอัตราสูงกว่า เปลี่ยนเป็นกำหนดให้คำนวณอัตราภาษีตามปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณ หมายถึง จำนวนกรัม จำนวนมวน มีเพดานสูงสุด คือ ภาษีต่อมวนไม่เกิน 5 บาท

ส่วนมูลค่า หมายถึง ราคาขายปลีกที่แนะนำ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการแจ้งต้นทุนราคา โดยเพดานภาษีอยู่ที่ 90% ของราคาขายปลีกแนะนำ ที่บริษัทจะแจ้งต่อกรมสรรพสามิต ดังนั้น การเก็บภาษียาสูบจึง กำหนดให้นำทั้งปริมาณและมูลค่ามาบวกกันเป็นภาษี ทั้งนี้ ในแง่สุขภาพ ไม่ว่าจะโครงสร้างภาษีใหม่หรือเก่า การปรับเพดานภาษี ต้องทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น จึงจะเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง โดยรัฐจำเป็นต้องคำนวณโดยคิดถึงผลลัพธ์ต่อสุขภาพของประชาชนด้วย หากอยากให้มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบสัมฤทธิ์ผล


"เชื่อว่าการคำนวณอัตราภาษีแบบใหม่ จะช่วยลดการย้ายกลุ่มไปสูบบุหรี่ที่ถูกกว่าได้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้การคำนวณอัตราภาษีตามมูลค่ามาโดยตลอดทำให้มีช่องว่างของราคาและคนเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่า แต่การคำนวณภาษีทั้งมูลค่า และปริมาณจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การขึ้นภาษียาเส้น ซึ่งปัจจุบันมีราคาแตกต่างกับบุหรี่แบบมวนมาก และมีอัตราประชากรที่สูบมาก รัฐบาลจึงต้องพิจารณาให้ครอบคลุม เพราะหากราคาต่างกันมาก ก็จะมีผลกระทบทำให้คนเลี่ยงจากบุหรี่ราคาสูงมาเป็นราคาถูก ทำให้คนสูบบุหรี่ไม่ลดลง เพราะคนจะหันไปหาบุหรี่ที่ราคาถูกลง จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึง ต้องปรับระดับภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม" รศ.ดร.สุชาดา กล่าว


รศ.ดร.สุชาดา กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำให้คนไม่ป่วย ทั้งนี้ อนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเข้าสู่โครงสร้างสังคมสูงอายุ โดยกระทรวงการคลัง ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะทำให้มีภาระการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีก 10-20 ปี ไทยอาจมีภาระการคลังถึง 7 แสนล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่สังคมสูงวัยหากประชาชนแข็งแรง มีอัตราโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่ำ ก็จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนต่ำ และส่งผลต่อภาระทางการคลังถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากกลายเป็นงบประมาณที่ต้องดูแลสุขภาพของผู้ป่วย โดยการหยุดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชากรตั้งแต่วัยเด็ก จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเยาวชน ป้องกันไม่ให้เยาวชนติดบุหรี่และกลายเป็นผู้ป่วยในอนาคตตั้งแต่วันนี้

logoline