svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.พบ ไทยมีปัญหาการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเลี้ยงลูกด้วย "สื่อไอที" ถึง 80% แทนที่จะเล่นกับลูก

06 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนไทยเลี้ยงลูกด้วยสื่อไอทีถึง 80% แต่เล่นกับลูกแค่ 50% เล่านิทานให้ลูกฟัง 20% สธ.ใช้ข้อมูลวางแผนแก้ปัญหาพัฒนาเด็กปฐมวัยรายเขตสุขภาพ


เมื่อวันที 6 กันยายน ที่โรงแรมเซนทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 นพ.พนิต โล่เสถียรกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กรมอนามัย ในฐานะผู้วิจัยสถานการณ์พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย พ.ศ. 2557 อนาคตที่น่าห่วง ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมครั้งนี้ กล่าวว่า การสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี กรมอนามัยจะดำเนินการทุก 3-5 ปี โดยจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กปฐมวัยทุกเขตสุขภาพรวมมากกว่า 10,000 คน พบว่า ภาพรวมพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทยอยู่ที่ 70% แต่เมื่อแยกเป็นรายเขตสุขภาพจะพบว่า พัฒนาการสมวัยนั้นมีความแตกต่างกัน โดยพื้นที่ภาคเหนือมีพัฒนาการสมวัยสูงสุดประมาณ 85% ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้พัฒนาการสมวัยอยู่ที่ประมาณ 50-60% เท่านั้น


ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กนั้น หากไม่นับเรื่องของพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยหลักๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน คือ 1.ตัวเด็กเอง เช่น การคลอดก่อนกำหนด การขาดออกซิเจน เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ทางระบบบริการสาธารณสุขก็พยายามเร่งดูแลให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยขึ้น 2.สิ่งแวดล้อม เช่น เศรษฐานะของครอบครัว โดยพบว่า หากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าหมื่นบาทอย่างชัดเจน เพราะครอบครัวที่มีรายได้ดีกว่าก็จะมีเวลาในการเลี้ยงลูก เล่นกับลูก อ่านนิทานให้ลูกฟังมากกว่าครอบครัวที่รายได้น้อยที่อาจให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า หรือเรื่องของการศึกษาของพ่อแม่ โดยพบว่าพ่อแม่ที่มีวุฒิการศึกษาสูงจะเลี้ยงลูกได้มีคุณภาพกว่า เป็นต้น


และ 3.เรื่องการเลี้ยงดู ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแม้เด็กปกติที่มีพัฒนาการดี แต่หากมีการเลี้ยงดูที่ไม่ดีก็ทำให้พัฒนาการเด็กต่ำลงได้ หรือแม้พัฒนาการเด็กจะไม่ดีตั้งแต่เกิด แต่หากมีการเลี้ยงลูกที่ดีก็ช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการให้เด็กดูสื่อไอทีตั้งแต่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ซึ่งพบมากถึง 80% ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านภาษา ขณะที่พ่อแม่ที่เล่นกับเด็กอย่างมีคุณภาพ คือ เล่นกับลูก 5 วันต่อสัปดาห์ นานวันละ 30 นาที มีเพียง 50% และพ่อแม่ที่เล่านิทานให้เด็กฟังอย่างมีคุณภาพมีเพียง 20% เท่านั้น ทั้งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก


"ที่ภาคอีสานมีเด็กพัฒนาการไม่สมวัยสูงที่สุด คาดว่า มาจากวัยทำงานของภาคอีสานเดินทางมาใช้แรงงานอยู่ที่ภาคอื่นมาก และเมื่อมีบุตรก็จะส่งกลับมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูแทน ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งอาจดูแลเด็กได้ไม่ดีเท่าไร โดยให้เด็กดูโทรทัศน์ และมีการเล่นกับเด็กน้อย เนื่องจากอายุที่มากทำให้ลงไปเล่นกับเด็กไม่ไหว เป็นต้น ทั้งนี้ จากการทำวิจัยดังกล่าวทำให้ผู้บริหาร สธ.เข้าใจภาพรวมของพัฒนาการเด็กมากขึ้น และเป็นข้อมูลให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ในแต่ละเขตสุขภาพใช้ในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความจำเพาะแตกต่างกัน เช่น เขตสุขภาพที่ 6 พบว่า มีการให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กน้อยเพียง 20% ก็ทำให้เกิดนโยบายที่ส่งเสริมให้ใช้ยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งประเทศและทุกเขตสุขภาพ ซึ่งในปี 2560 นี้อยู่ระหว่างการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยครั้งใหม่ ก็จะนำผลมาดูว่าหลังจากมีการขับเคลื่อนนโยบายแล้ว พัฒนาการของเด็กดีขึ้นหรือไม่ ยังมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่" นพ.พนิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยของแต่ละเขตสุขภาพในงานวิจัยดังกล่าว เมื่อแบ่งตามเขตสุขภาพมีข้อมูลดังนี้ เขตสุขภาพที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) อยู่ที่ 85.6% ถือว่าสูงที่สุดในประเทศ เขตสุขภาพที่ 2 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) อยู่ที่ 74.9% เขตสุขภาพที่ 3 (ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี) อยู่ที่ 84.7% เขตสุขภาพที่ 4 (สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก) อยู่ที่ 81.6% เขตสุขภาพที่ 5 (กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร) อยู่ที่ 70.7% เขตสุขภาพที่ 6 (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด) อยู่ที่ 73.7%

เขตสุขภาพที่ 7 (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) อยู่ที่ 71.1% เขตสุขภาพที่ 8 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร) อยู่ที่ 66.3% เขตสุขภาพที่ 9 (ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์) อยู่ที่ 74.9% เขตสุขภาพที่ 10 (มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ) อยู่ที่ 56.6% ถือว่าต่ำที่สุดในประเทศ เขตสุขภาพที่ 11 (ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง) อยู่ที่ 64.5% และเขตสุขภาพที่ 12 (พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล) อยู่ที่ 70.9%

logoline