svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"กอบกาญจน์" หารือญี่ปุ่นดันท่องเที่ยว

11 กุมภาพันธ์ 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รมว.ท่องเที่ยวเชื่อตลาดญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็ว หลังนายกฯ ไทยเยือนเป็นทางการ พร้อมรับลูกลองสเตย์ ฟาวเดชั่น เจแปน จัดมาตรการส่งเสริมตลาดผู้เกษียณอายุมาไทยเพิ่ม หลังพบมาเลเซียโหมมาตรการชิงตลาดหนัก เร่งจับมือบีโอไอไทยวางแนวทางส่งเสริมธุรกิจในสาขาชัดเจน เชื่อมั่นเอื้อประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เข้าพบกับนายรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จากญี่ปุ่นด้วยนั้น ถือเป็นผลดีอย่างมากในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวแล้วแต่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีอาเบะ ได้กล่าวแสดงความมั่นใจในประเทศไทยออกมาชัดเจนจะช่วยทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ยังลังเลในการเดินทางมาไทย ไม่มีความกังวลอีกต่อไป ทำให้ตลอดปีนี้แนวโน้มการท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ครั้งนี้ได้ถือโอกาสหารือกับนายริวจิ ฟุนายาม่า ประธานลองสเตย์ ฟาวเดชั่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลชาวญี่ปุ่นที่ต้องการไปพำนักต่างประเทศในระยะยาว โดยได้รับฟังข้อมูลการเดินทางของญี่ปุ่นในปัจจุบัน และได้รับข้อเสนอแนะในหลายประเด็นที่ไทยยังต้องปรับปรุงเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มลองสเตย์เดินทางออกจากญี่ปุ่นราว 1.2 ล้านคน และในปี 255-2558 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 100% โดยจะเตรียมนัดหมายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของไทย ว่าจะสามารถวางนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเป็นอุตสาหกรรมหลักในการทำรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลองสเตย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ที่ได้รับการส่งเสริมเชิงการลงทุนที่ชัดเจนได้อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการคือ ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีสถิติเดินทางไปพำนักต่างประเทศแบบเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มากขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศต่างๆ เริ่มวางนโยบายส่งเสริมตลาดลองสเตย์จากญี่ปุ่นอย่างจริงจัง เพราะเล็งเห็นในศักยภาพ ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีตัวเลือกและแรงจูงใจในการเดินทางสูงขึ้น
สำหรับการเดินทางมาไทยอยู่ราว 6 หมื่นคน โดยในจำนวนดังกล่าว นิยมเดินทางไปเชียงใหม่สูงสุดราว 4,000 คน แต่หากเทียบสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2550 ที่ไทยเคยเป็นจุดหมายอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยววัยเกษียณจากญี่ปุ่นนั้น ปรากฏว่าปัจจุบันตกลงมาอยู่อันดับ 5 หรือ 6 เท่านั้น โดยมีประเทศที่ได้รับความนิยมเติบโตสูงสุด คือ มาเลเซีย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนใน 2 เรื่องหลัก คือ การให้สิทธิวีซ่า 10 ปี (ต่ออายุได้ 10) ปี ภายใต้หลักการที่ผู้ขอสิทธิต้องมีหลักฐานแสดงความมั่นคงทางการเงินตามที่กำหนด และการให้สิทธิในการโอนกรรมสิทธิ์การถือครองอสังหาริมทรัพย์แก่ลูกหลานได้ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่เสียชีวิตว่าจะไม่สามารถส่งต่อมรดกให้ลูกหลานดูแลได้
ทางลองสเตย์ ฟาวเดชั่น มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เพราะคนญี่ปุ่นที่ต้องการไปพำนักระยะยาวต่างประเทศ ก็มักจะสนใจลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมไว้อยู่อาศัย สอดคล้องกับกระแสการเดินทางด้วยตัวเองของคนสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช้บริการจัดหาจากบริษัทตัวแทนมากเท่าเดิม แต่ที่ผ่านมา คนที่เคยมาไทยแล้วพบปัญหาการไม่สามารถโอนกรรมสิทธิได้ จึงบอกต่อปากต่อปาก กลายเป็นอุปสรรคด้านความกังวล ซึ่งกลับครั้งนี้ ก็จะศึกษาเรื่องกฎเกณฑ์นี้ และดูว่าจะมีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องพอจะเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือได้บ้าง
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา มาเลเซีย ยังปูพรมรุกเข้าไปทำตลาด 10 เมืองรวดในญี่ปุ่น ด้วยรูปแบบการจัดสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช้อป) โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายมารู้จักสินค้าท่องเที่ยวของมาเลเซียในเชิงลึก ขณะเดียวกันสิ่งที่แตกต่างจากไทยชัดเจนคือ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาของมาเลเซีย หรือ ไมด้า (Malaysian Investment Development Authority) เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจลองสเตย์ และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจนด้วย
ทั้งนี้ การส่งเสริมลองสเตย์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการลงทุนธุรกิจการบริการ (Hospitality) ที่รัฐบาลยกให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมหลัก (National Key Economic Areas) ของประเทศ ภายใต้เป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน และสร้างรายได้ 1.68 แสนล้านริงกิต (1.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2563
นางกอบกาญจน์ กล่าวด้วยว่า การหารือกับบีโอไอในครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำหรับบีโอไอที่มีฐานลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว และถือเป็นกลุ่มพำนักระยาวเช่นกัน ก็ถือเป็นตลาดใหญ่ที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจนี้ได้เช่นกัน
ส่วนความคืบหน้าในการขอพบกับผู้บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ล่าสุดได้กำหนดเบื้องต้นวันที่ 26 ก.พ.นี้ โดยประเด็นหลักไม่ได้หารือเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-มาดริด ที่เตรียมจะปิดตัวลงเท่านั้น แต่จะพูดคุยเสนอความช่วยเหลือตามกรอบที่เป็นไปได้ในด้านการตลาด ว่าจะสามารถให้ภาคการท่องเที่ยวส่งเสริมการตลาดในพื้นที่ๆ ยังติดขัดได้หรือไม่ อย่างไร และจะมีการนำผู้บริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปร่วมหารือด้วย

logoline