svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

Nation Election 2019 EP.30 หาเสียงบนสื่อออนไลน์ ...มีได้แต่ก็เสีย

24 ธันวาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย / เพราะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกราวๆ 2 เดือนข้างหน้า / คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ได้อนุญาตให้พรรคการเมืองใช้วิธีการหาเสียงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างเป็นทางการ / ทำให้พรรคการเมืองในยุค 4.0 พากันเตรียมนโยบายเด็ดเสิร์ฟให้กับประชาชนโดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียกันอย่างเต็มที่

หากมองแบบผิวเผิน นี่ย่อมถือว่าเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของการเมืองไทย แต่หากมองให้ลึกลงไปก็อาจมีคำถามเช่นกันว่า รัฐบาลมีความพร้อมสำหรับรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมามากน้อยแค่ไหน เพราะอาจเกิดความวุ่นวายในระดับ "ภัยพิบัติทางไซเบอร์" ได้เลยทีเดียว 

พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บอกกับเนชั่นทีวีว่า แม้การเปิดให้ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถเก็บข้อมูลการหาเสียงมาใช้ในเชิงการวิเคราะห์ และประชาชนก็สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคการเมืองได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการสาดโคลนใส่กัน / การบิดเบือนข้อมูล / หรือใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อความเท็จโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ / รวมไปถึงปรากฏการณ์ยัดเยียดความเห็นของกองเชียร์ที่สุดโต่ง ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นความเห็นของฝ่ายตรงข้าม 
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ยังบอกอีกว่า ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากนี้ คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายกันอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะความความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเชิงรุกที่ทำหน้าที่ป้องกันก่อนจะเกิดเหตุ / ไม่มีศูนย์ป้องกันภัยพิบัติทางไซเบอร์ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบการกระทำความผิดอย่างจริงจัง มีแต่หน่วยงานของตำรวจที่เน้นทำงานเชิงรับ คือรอให้มีการแจ้งความก่อนถึงจะทำคดี 

ความเห็นของพันธ์ศักดิ์ สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อดิจิทัลอย่าง อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ที่บอกว่า การนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้กับการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คำถามคือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบ มีศักยภาพมากพอที่จะป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาแล้วหรือยัง โดยเฉพาะบรรดาแฟนคลับ กองเชียร์ หรือกองแช่ง ที่ไม่ใช่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองโดยตรง ทำให้ขอบเขตในการจัดการปัญหากว้างใหญ่ไพศาลมาก  

ขณะที่ทีมตำรวจเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกกับเนชั่นทีวีว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างตำรวจกับ กกต.แล้ว โดยได้เตรียมวางหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคกำหนดช่องทางหาเสียงทางออนไลน์ของตนเอง โดยจดแจ้งรูปแบบและช่องทางที่จะใช้อย่างชัดเจนต่อ กกต. และต้องจัดเตรียมคณะทำงานเพื่อคอยมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มที่จะนำข้อมูลของพรรคการเมืองไปเผยแพร่ในทางที่บิดเบือนจนเกิดความเสียหาย ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นตำรวจต้องทำงานอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลให้สังคมเห็นให้ได้ เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลาม 

logoline