svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พม.เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

14 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พม. แถลงข่าว Kick Off โครงการ พม. "เราไม่ทิ้งกัน" ภายใต้แนวคิด สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน ดึงชุมชน ร่วมสำรวจปัญหา เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถ.กรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว Kick Off โครงการ พม. "เราไม่ทิ้งกัน" ภายใต้แนวคิด "สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน" เพื่อเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้ง ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ กทม. จำนวน 286 ชุมชน ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

พม.เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

โดยมี นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางจินตนา จันทร์บำรุง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวง พม. สะพานขาว ถ.กรุงเกษม กรุงเทพนางพัชรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงในวงกว้างมากขึ้น และได้ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีลักษณะชุมชนเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลของ กคช. และ พอช. จำนวนทั้งสิ้น 286 ชุมชน กำลังเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้ขับเคลื่อน โครงการ พม. "เราไม่ทิ้งกัน" ภายใต้แนวคิด "สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน" เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการที่ถูกทอดทิ้งไม่มีคนดูแล ผู้ที่ตกงาน ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ผู้ที่ขาดแคลนอาหาร แม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ที่ไม่มีค่านมลูก ผู้ปกครองที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมบุตรหลาน ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตามเงื่อนไขของรัฐบาล และครอบครัวได้รับผลกระทบจากการกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านต่างๆ ในชุมชน

พม.เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กระทรวง พม. ได้รวบรวมข้อมูลในภาพรวมของ 286 ชุมชน ได้แก่ รายชื่อชุมชนและข้อมูลพื้นฐานทั่วไป รวมทั้งรายชื่อผู้ประสานงานชุมชน และจะดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค สภาพปัญหาและความต้องการ สวัสดิการสังคมที่ได้รับแล้วจากรัฐและกระทรวง พม. และผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจากนั้น จะนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์และวางแผนในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนตามระดับความเร่งด่วนของปัญหาและความต้องการ โดยได้เตรียมกิจกรรมการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างปลอดภัยด้านต่างๆ ในชุมชน ดังนี้1) ความปลอดภัยด้านที่พักอาศัย ด้วยการดูแลสมาชิกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวกลุ่มเสี่ยง2) ความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการตั้งโรงอาหารกลางในชุมชน3) ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ความรู้และการกำกับดูแลชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน4) ความปลอดภัยด้านการป้องกัน ด้วยการมีเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาความสะอาดและ 5) ความปลอดภัยด้านเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมและฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการ "สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน"นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนขับเคลื่อน โครงการ พม. "เราไม่ทิ้งกัน" จะมีการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนได้รับทราบและเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลของตนเองและครอบครัวกับผู้ประสานงานชุมชน ด้วยแผ่นป้ายและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หอกระจายข่าวในชุมชน และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทำให้ทราบข้อมูลทั้งหมดของ 286 ชุมชน เพื่อนำไปจัดทำแผนฟื้นฟูชุมชน และจะได้ลงพื้นที่ชุมชนแรกและชุมชนต่อๆ ไปตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปโดยคาดว่าจะลงพื้นที่จนครบ 286 ชุมชน ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร็วที่สุด อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพึ่งพาตนองได้ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวต่อไปนางสาวสราญภัทร เปิดเผยถึงผลการสำรวจ "ครอบครัวไทยในภาวะวิกฤติ COVIC-19" ใน 3 ประเด็น ได้แก่1) การปฏิบัติตัวของประชาชน ในภาวะวิกฤต COVID-19 2)กิจกรรมขณะอยู่บ้าน Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19และ 3) การอยู่ร่วมกันในครอบครัว Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19โดยสำรวจจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 2,069 ตัวอย่าง ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับการรับทราบข้อมูลการปฏิบัติตัวของประชาชนและสถานการณ์การอยู่ร่วมกันในครอบครัวในภาวะวิกฤต COVIC-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน 2563 ในแต่ละประเด็นที่ทำการสำรวจ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้ประเด็นที่ 1 การปฏิบัติตัวของประชาชนในภาวะวิกฤต COVID-19ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ดังนี้ ผลสำรวจในประเด็นนี้ พบว่า ร้อยละ 96.4 สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ร้อยละ 88.3 มีความพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงสังสรรค์ ร้อยละ 84.3 มีการทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินร้อน ช้อนส่วนตัวและล้างมือบ่อยมากขึ้นประเด็นที่ 2 กิจกรรมที่ประชาชนทำขณะอยู่บ้าน Stay at home ในภาวะวิกฤต COVID-19เมื่อพิจารณาถึงกิจกรรมของครอบครัวที่ทำขณะอยู่บ้าน พบว่า ร้อยละ 98.8 มีการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์ COVID-19 ร้อยละ 85.6 มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ จิตอาสา ร้อยละ 82.0 มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้นนอกจากนี้ ยังพบว่านโยบายทำงานที่บ้าน (Work for home) พบว่า สมาชิกครอบครัว 7 ใน 10 คน ทำงานที่บ้านมีสัดส่วน 1 ใน 4 คน ที่ใช้เวลาทำงานมากพอๆ กับที่ทำงาน แม้ว่าจะมีสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาด ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.0 ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันอย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะความตึงเครียด ทำให้สมาชิกครอบครัวเพียงร้อยละ 56.4 เท่านั้นที่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์รุนแรงหรือไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับคนในครอบครัว และที่น่าห่วงใย คือ มีครอบครัวไทย ร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 0.9 ที่มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จนได้รับบาดเจ็บ

พม.เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

นางสาวสราญภัทร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 การอยู่ร่วมกันของครอบครัวในภาวะวิกฤติ COVID-19 พบว่า ร้อยละ 94.6 มีความเห็นว่าสถาบันครอบครัว คือสถาบันที่มีความสำคัญมากที่สุด ร้อยละ 84.0 คือ รู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 68.9 มีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกับครอบครัวอย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่ากังวล คือ มีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ในภาวะวิกฤตนี้ สำหรับครอบครัวร้อยละ 61.4 พอที่จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินและดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ แต่สำหรับครอบครัวอีกร้อยละ 14.7 มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะแทบไม่สามารถจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เลยนางสาวสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ มีครอบครัวเกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.5 มีความเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และมีความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญ จากภาวะวิกฤตนี้ ทำให้ประชาชนกว่า 6 ใน 10 หรือ ร้อยละ 60.1 มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียงมากขึ้นจะเห็นได้ว่าวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และระดับประเทศ ซึ่งบทบาทของครอบครัวไทย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคน คือ การอยู่กับบ้าน Stay at home ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้นซึ่งนอกจากเป็นโอกาสที่ดีที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากัน มีความรัก ความอบอุ่น และได้เรียนรู้กันให้มากขึ้น ยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรัฐบาล "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" สนับสนุนให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน

พม.เร่งช่วยผู้เดือดร้อน จากผลกระทบโรคโควิด-19

นางจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการเปิดจุดคัดกรองกลุ่มเป้าหมายคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรุงเทพมหานคร จัดบริการคัดกรองโรค ประเมินกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น และให้บริการที่พักพิง และปัจจัยสี่ในสภาวะวิกฤตินี้
ซึ่งได้ดำเนินการให้การคุ้มครองตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่เริ่มเปิดจุดคัดกรอง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึง 13 เมษายน 2563 มียอดผู้ใช้บริการสะสม 95 ราย เป็น ชาย 71 ราย หญิง 24 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน และอยู่ในสภาวะยากลำบาก เช่น ตกรถ หรือถูกพักงานไม่มีที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้บริการ ที่ยังคงพักพิงในจุดคัดกรอง ดินแดง อยู่จำนวน 22 คน เป็นชาย 17 ราย และหญิง 15 ราย ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคม หรือพบเห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

logoline