svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

5วิธีชี้ "เบาะแสระเบิดป่วนเมือง"

22 สิงหาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่านไปแล้วเกือบ 1 อาทิตย์แต่รายละเอียดของ ระเบิดแสวงเครื่อง ที่นำมาใช้ก่อการร้ายจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 คน ถือเป็นความสูญหายครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยนั้น ยังไม่มีรายละเอียดออกมาชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำระเบิดปลอมมาวางป่วนเมืองซ้ำเติม !?!


ระเบิดแสวงเครื่อง หรือที่เรียกกันว่า ระเบิดไออีดี Improvised Explosive Device (IED) คือระเบิดที่เกิดจากการประกอบดัดแปลงขึ้นมาจากชิ้นส่วนต่างๆ โดยไม่ได้ใช้วัสดุมาตรฐานการผลิตจากโรงงาน เพื่อประกอบให้ครบวงจรการระเบิด
อธิบายง่ายๆ คือ ระเบิด อะไรก็ได้ที่ไม่ได้มาจากโรงงานที่ถูกต้อง ไม่ได้ใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือทหาร การนำระเบิดแสวงเครื่องไปก่อเหตุร้าย ส่วนใหญ่ทำใน 3 รูปแบบด้วยกัน 1.ทำเป็นก้อนระเบิดขนาดเล็กสามารถพกพาใส่กระเป๋าไปวางไว้ที่จุดเป้าหมาย 2.นำระเบิดมาติดไว้กับอุปกรณ์บางอย่างให้สามารถแนบชิดกับร่างกาย หรือที่เรียกกันว่า ระเบิดพลีชีพ และ 3.ระเบิดถูกนำไปติดตั้งไว้กับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ คนไทยทั่วไปเรียกกันว่า "คาร์บอมบ์

5วิธีชี้ "เบาะแสระเบิดป่วนเมือง"


เวลา 18.55 น.ของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 คือช่วงนาทีแห่งการจุดระเบิดบึ้มกลางสี่แยกราชประสงค์ แต่ภาพที่ถูกแชร์ไปตามโซเชียลมีเดียนั้นเผยแพร่หลังเกิดเหตุไม่เกิน 10 นาที พร้อมข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วเบื้องต้น 5 ราย ภาพที่ปรากฏออกมาช่วงแรกลักษณะคล้ายระเบิดมาจากมอเตอร์ไซค์ที่มีไฟลุกโชนกลางสี่แยก ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่นึกว่าเป็น คาร์บอมบ์
จนกระทั่งประมาณ 21.00 น. ตำรวจแถลงข่าวว่าเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ เป็น ระเบิดแสวงเครื่อง น้ำหนักประมาณ 5 กก. จุดชนวนระเบิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ระหว่างที่ยังจับผู้ลงมือวางระเบิดไม่ได้นั้น ทีมสืบสวนเชื่อว่าหากแกะรอยจากหลักฐานของวัสดุที่มาประกอบเป็น วัตถุระเบิด และ ตัวจุดชนวนระเบิด จะช่วยคลี่คลายคดีและนำไปสู่การค้นหาเป้าหมายของกลุ่มผู้ลงมือที่อยู่เบื้องหลังได้
ย้อนดูสถิติคดีวางระเบิดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3-5 คน แต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 คาร์บอมบ์ที่เขตเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา 2 จุด ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญมากเพราะมีทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และการวางระเบิดครั้งที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ ระเบิดราชประสงค์ วันที่ 17 สิงหาคม 2558 เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 คน
การสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์จาก ระเบิด จึงเป็นส่วนสำคัญในการคลี่คลายคดีและจับผู้ร้าย
ผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้ระเบิดอธิบายให้ฟังว่า การสืบสวนจาก ระเบิด เบื้องต้นจะดูองค์ประกอบของระเบิด 3 ส่วนที่สำคัญคือ
1.วัตถุระเบิด หรือพวกเชื้อระเบิด ซึ่งเป็นวัตถุเคมีที่ทำให้เกิดแรงระเบิดหลัก มีส่วนประกอบอะไรบ้าง เช่น ทีเอ็นที (TNT: Trinitrotoluene) ซีโฟร์ (Composition C-4) ไดนาไมค์ (Dynamite) แอมโมเนียมไนเตรท ฯลฯ
2.ส่วน วัสดุขยายการระเบิด หรือส่วนที่นำมาเป็นสะเก็ดระเบิด เช่น ลูกปราย (บอล แบริ่ง) ตะปู เศษเหล็ก เศษโซ่รถจักรยานยนต์ ฯลฯ คนร้ายนำวัสดุอะไรมาใช้เพื่อทำให้อานุภาพระเบิดร้ายแรงมากขึ้น และ 3.ระบบจุดชนวนระเบิด
ความน่าสนใจของคดีบึ้มราชประสงค์นั้น ส่วนที่เป็นวัตถุระเบิดค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นทีเอ็นทีประมาณ 3-5 ปอนด์ สิ่งที่ห่อหุ้มคือโลหะลักษณะคล้ายท่อเหล็ก ส่วนที่นำมาวัสดุขยายอานุภาพให้รัศมีไปไกลกว่า 50 เมตรคือ บอล แบริ่ง คือลูกปราย ขนาด 2 มิลลิเมตร กับ 8 มิลลิเมตร แต่ส่วนที่ยังสับสนอยู่คือ ระบบจุดชนวนระเบิด ยังไม่แน่ชัดว่าคนร้ายรายนี้ใช้วิธีจุดแบบตั้งนาฬิกาหรือจุดแบบใช้คลื่นวิทยุหรือโทรศัพท์มือถือ จุดนี้สำคัญเพราะจะทำให้รู้ว่ามีการวางแผนมาอย่างไร มีผู้ร่วมขบวนการหรือไม่ เพราะยิ่งระเบิดสมบูรณ์ สามารถทำลายเป้าหมายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็หมายถึงการวางแผนมาอย่างดี ต้องสืบเพื่อให้รู้ทันการวางแผนทั้งหมด

5วิธีชี้ "เบาะแสระเบิดป่วนเมือง"


ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวอธิบายว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 การวางระเบิดในประเทศไทยประมาณ 3,000 ครั้ง ระบบจุดระเบิด ที่พบบ่อยมี 7 รูปแบบ ได้แก่
1.การใช้ วิทยุสื่อสาร 67 ครั้ง ถือเป็นระบบยอดนิยมในช่วงหลัง แต่ต้องใช้เทคนิคและความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ สามารถบังคับได้ในระยะหลายกิโลเมตร 2. ระบบดีทีเอ็มเอฟ DTMF (Dual Tone Multi Frequency) ดัดแปลงใช้จากวิทยุสื่อสารมาเป็นวงจรจุดระเบิด 183 ครั้ง 3. กับระเบิด หรือการวางให้เป้าหมายไปเหยียบโดนหรือสัมผัสโดนจุดชนวนระเบิด จำนวน 228 ครั้ง 4.การใช้ รีโมทคอนโทรลรถยนต์ 251 ครั้ง

5. นาฬิกาตั้งเวลา 446 ครั้ง 6. โทรศัพท์มือถือ 501 ครั้ง 7. ระบบลากสายไฟ ซึ่งพบเมื่อหลายปีที่แล้วปัจจุบันใช้เฉพาะช่วงถนนเปลี่ยวในชายแดนภาคใต้ จำนวน 534 ครั้ง

แต่มีกว่า 300 ครั้งที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดไม่รู้ว่าเป็นการใช้ระบบไหนจุดชนวนเพราะแรงระเบิดได้ทำลายหลักฐานส่วนนี้จนหมดสิ้น เหมือนกับกรณีของสี่แยกราชประสงค์ ทำให้เกิดการคาดเดาว่าอาจเป็นการใช้นาฬิกาตั้งเวลา เพราะมีความแม่นยำ ไม่สลับซับซ้อนมาก
สำหรับปัญหาการพบ วัตถุระเบิดปลอม ที่มาวางเพื่อสร้างความปั่นป่วนนั้น ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นได้อธิบายถึง เคล็ดลับการสังเกตระเบิด 5 วิธี เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการหลีกหนีและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
1.เป็นวัสดุลักษณะ กล่อง ห่อ หรือถัง ที่น่าสงสัยเพราะวางอยู่ในที่ไม่ควรวาง ไม่รู้ว่าเป็นของใคร ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน เช่น มีห่อสีดำวางอยู่ข้างตู้เอทีเอ็ม หรือถังดับเพลิงวางอยู่ริมถนน 2.มีลักษณะบางอย่างคล้ายตัวจุดชนวนระเบิดโผล่ออกมา เช่น สายไฟ ชิ้นส่วนนาฬิกา ฯลฯ 3.มีกลิ่นสารเคมีผิดปกติ หรือมีน้ำมันเยิ้มออกมา มีกลิ่นน้ำมันเครื่อง หรือ น้ำมันเบนซิน ฯลฯ
4.พบการทำเครื่องหมายพิเศษต่างๆ เช่น ตามเสาไฟฟ้า ป้ายริมถนน ผูกป้าย เครื่องหมายกากบาท ฯลฯ อาจเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่ามีระเบิดซุกซ่อนอยู่ 5.เมื่อได้รับวัสดุในกล่องที่มีหีบห่อแน่นหนา หรือเป็นซองแข็งพับงอไม่ได้ มีคราบน้ำมัน ไม่ระบุชื่อนามสกุลที่ถูกต้อง ฯลฯหากพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือวัตถุต้องสงสัยข้างต้น ให้แจ้งมาที่สายด่วน กทม. 1555 ตลอด 24 ชั่วโมงระเบิดบอสตันหม้ออัดแรงดัน
คดีวางระเบิด 2 ลูกในงานวิ่ง บอสตันมาราธอน 2013 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ 15 เมษายน 2556 นั้น มือระเบิดได้ใช้ หม้อทำอาหารแบบแรงดันสูงมาดัดแปลงเป็นระเบิดแสวงเครื่อง ใส่กระเป๋าแล้วไปวางที่ถนนบอยล์สตัน ใกล้จัตุรัสโคพลีย์ ซึ่งเป็นบริเวณหน้าเส้นชัยของการแข่งขัน สำหรับหลักฐานส่วนประกอบที่พบนั้นเป็นวัตถุระเบิดทีเอ็นที มีตะปูและลูกปรายเป็นวัสดุขยาย ใช้ระบบนาฬิกาดิจิทัลและโทรศัพท์มือถือในการจุดชนวนระเบิด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 250 คน ทุกวันนี้เหยื่อหลายรายมีสภาพพิการทางร่างกาย เพราะถูกสะเก็ดระเบิดในจุดสำคัญของอวัยวะร่างกาย หลายฝ่ายจึงออกมาเตือนคนไทยว่า การสังเกตวัสดุต้องสงสัยนั้น นอกจากจะเป็นกล่อง หีบห่อทั่วไปแล้ว หากพบหม้อทำอาหารหรือถังแก๊สขอให้ระวังเป็นพิเศษ และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ถ้าพบการวางตั้งอยู่ในลักษณะผิดปกติ

logoline