svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

รู้หรือไม่ กาแฟดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน!!

19 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดงานวิจัยชี้ชัดความสัมพันธ์ระหว่าง “กาแฟ” กับ “ผู้ป่วยโรคเบาหวาน” ตัวช่วยหรือผู้ร้ายทำลายสุขภาพคนดื่ม

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ความรู้สึกสดชื่นตื่นตัว ไม่ง่วงนอน โดยในกาแฟมีส่วนประกอบหลายอย่างที่มีประโยชน์และมีโทษ กับผู้ป่วยเบาหวาน ในกาแฟจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง โพลีฟีนอล (Polyphenols) และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น แมกนีเซียม โครเมียม (Chromium) ซึ่งช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ในกาแฟก็มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาท อาจทำให้มีความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับได้ นอกจากนี้ ในเครื่องดื่มกาแฟอาจมีการผสมครีมเทียม รวมถึงอาจมีการเพิ่มน้ำตาลทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูงและการควบคุมระดับน้ำตาลทำได้ยากขึ้นด้วย  จึงกล่าวได้ว่า “กาแฟกับโรคเบาหวาน” มีความเกี่ยวข้องกันกันอย่างมาก แต่จะเกี่ยวข้องอย่างไรมาดูข้อมูลที่น่าสนใจไปพร้อมๆ

รู้หรือไม่ กาแฟดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน!! ความสัมพันธ์ระหว่าง “กาแฟ” กับ “โรคเบาหวาน”

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้ยินว่ากาแฟนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ อย่าง โรคมะเร็งบางชนิด โรคตับ หรือแม้กระทั่งความเชื่อที่ว่า กาแฟสามารถส่งผลต่อโรคซึมเศร้าได้ แต่จริงๆ แล้วมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกาแฟและโรคเบาหวานที่มีความสัมพันธ์กัน โดยจากการศึกษาพบว่า การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ติดตามคนกว่า 100,000 คน เป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี และใช้ระยะเวลานาน 4 ปีเพื่อหาข้อสรุปและได้ตีพิมพ์ข้อมูลงานวิจัยนี้ในปี ค.ศ. 2004 ว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากเกินวันละ 1 ถ้วย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ร้อยละ 11 ส่วนผู้ที่ลดการดื่มกาแฟลง 1 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 17 นอกจากนี้ ก็ยังมีการศึกษาผู้เข้าร่วมการศึกษาอีก 40,000 คน ระบุว่าการดื่มชาหรือกาแฟวันละ 3 ถ้วย จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ถึงร้อยละ 40 แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า กาแฟนั้นมีผลกระทบต่อพัฒนาการของโรคเบาหวาน

รู้หรือไม่ กาแฟดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน!!

กาแฟมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร?

ในกาแฟอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่อาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของกาแฟในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

กาแฟอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอลที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medical Journal of The Islamic Republic of Iran เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับโพลีฟีนอลและผลกระทบต่อการจัดการโรคเบาหวาน พบว่า โพลีฟีนอลในอาหารหลายชนิดอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ปรับปรุงการหลั่งและความไวของอินซูลินในการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน อาจช่วยควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้

  • อุดมไปด้วยแร่ธาตุ

กาแฟอุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิดอย่างแมกนีเซียมและโครเมียม ที่มีคุณสมบัติอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคแมกนีเซียมและความเสี่ยงของการเผาผลาญกลูโคสและอินซูลินที่บกพร่อง พบว่า การบริโภคแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงของการพัฒนาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เนื่องจาก แมกนีเซียมมีส่วนช่วยปรับปรุงการเผาผลาญในร่างกาย ปรับปรุงการทำงานของอินซูลินที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือดไปเป็นพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมที่มีโครเมียมและความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 พบว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มีโครเมียมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ซึ่งโครเมียมอาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด

รู้หรือไม่ กาแฟดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน!! องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์นี้เองทำให้การศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจในองค์ประกอบของกาแฟหลายชนิด เช่น คาเฟอีน สารโพลีฟีนอล ฟีโนลิก กรดคลอโรเจนิก วิตามินบี 3 องค์ประกอบของน้ำมันในกาแฟ ฯลฯ ความสนใจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในฤทธิ์ที่ต้านอนุมูลอิสระ และยังกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลก็คือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในกาแฟ ที่เรียกว่า ไดเทอร์พีน (Diterpene) ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าสามารถทำให้คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอลเลือดสูงเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกาแฟที่ผ่านกระดาษกรองแล้วก็จะลดปัญหาดังกล่าวได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับชนิดของกาแฟที่ไม่มีการกรองเลย

ในการวิจัยในมนุษย์เกี่ยวกับการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น งานวิจัยหลายชิ้นมีความขัดแย้งและสร้างความสับสนมาโดยตลอด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะรายละเอียดของกาแฟไม่เหมือนกัน เช่น การใช้กระดาษกรอง การใส่น้ำตาล การใส่ครีมเทียม ฯลฯ

แต่อย่างน้อยที่สุด โรคเบาหวานที่เป็นสาเหตุหนึ่งจากหลายสาเหตุที่สามารถนำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า “กาแฟดำ” ที่ไม่ใส่น้ำตาลและครีมเทียม อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยงานวิจัยที่ปรากฏในวารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลโรคเบาหวานที่ชื่อว่า Diabetes Care เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้ทำการวิเคราะห์อภิมานและทบทวนอย่างเป็นระบบครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่ทำการ 1,109,272 คน ซึ่งมีผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 45,335 คน พบว่า

“คนที่ดื่มกาแฟ 6 ถ้วยต่อวัน มีความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลงไป 33% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ดื่มเลย และกาแฟทั้งมีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีนก็ให้ผลช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระดับใกล้เคียงกัน”

 

งานวิจัยที่ปรากฏในวารสารโภชนาการคลีนิกของอเมริกัน The American Journal of Clinic Nutrition ฉบับเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ได้ออกรายงานการสำรวจความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟกับโรคเรื้อรังหลายชนิด โดยการศึกษาประชากร 42,659 คน ด้วยการตอบแบบสอบถาม และติดตามผลระยะเวลา 8.9 ปี พบว่า

 

“การดื่มกาแฟไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคเรื้อรัง แต่อาจจะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยคนที่ดื่มกาแฟแบบ “มีคาเฟอีน” 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลงไป 23% เทียบกับคนที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน ในขณะที่คนที่ดื่มกาแฟแบบ “ไม่มีคาเฟอีน” 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลงไป 30% เทียบกับคนที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน”

วารสารเวชศาสตร์ครอบครัวของเกาหลี Korean Journal of Family Medicine ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งทำการคัดกรองกลุ่มคนที่มีระดับน้ำตาลสูงมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานจำนวน 3,497 คน เพื่อมาดูความสัมพันธ์กับการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วพบว่า

“การดื่มกาแฟดำแบบไม่ใส่น้ำตาลและครีมเทียม 3 ถ้วยต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ และให้ผลดีกว่าการดื่มกาแฟแบบใส่น้ำตาลและใส่ครีมเทียม แม้ว่าจะแตกต่างกันไม่มากก็ตาม”

 

แต่ถึงแม้ว่ากาแฟดำ 2-4 ถ้วย และต้องผ่านกระดาษกรองจะเป็นประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน แต่ก็มิได้หมายความว่าใครจะดื่มเท่าไหร่ก็ได้ เพราะความจริง การดื่มกาแฟก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่ต้องระวังด้วย เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย วิตกกังวล ปวดศีรษะ ติดกาแฟ เป็นต้น โดยเฉพาะคนที่ดื่มเป็นครั้งคราว อาจต้องระวัง เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน จึงอาจเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และในบางกรณีสามารถเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวนี้มักจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ดื่มกาแฟประจำอยู่แล้ว

คำแนะนำ : ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มกาแฟอย่างไร

1 ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน (Decaf) เนื่องจาก คาเฟอีนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร ยับยั้งการตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานได้น้อยลง หากปล่อยไว้นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น เส้นประสาทเสียหาย โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes & Metabolic Syndrome เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคคาเฟอีนระยะสั้นและความไวของอินซูลินและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน จากการรวบรวมการทดลองทั้งหมด 7 ฉบับ พบว่า มี 5 การศึกษาแนะนำว่าการบริโภคคาเฟอีนจะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการบริโภคคาเฟอีนต่อระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาว

2 ผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดการดื่มกาแฟ ไม่ควรเกินวันละ 1-2 แก้ว/วัน หรือ 400 มิลลิลิตร/วัน เนื่องจากการดื่มกาแฟมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ มีความวิตกกังวล ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง

3 ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการเติมรสชาติในกาแฟ สามารถเติมความหวาน กลิ่นหรือรสชาติอื่น ๆ ได้ตามชอบ แต่ควรเลือกสารให้ความหวานที่ไม่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน ทากาโทส (Tagatose) แอสปาร์แตม (Aspartame)

 

ข้อควรระวัง : ความเสี่ยงของการดื่มกาแฟ สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

1 กาแฟอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน แต่การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน น้ำตาลสูงและไขมันอิ่มตัว อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ดังนี้

2 กาแฟที่มีคาเฟอีนอาจทำให้มีอาการปวดหัว มึนงง มีความวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง

3 การดื่มกาแฟที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงอาจทำให้คอเลสเตอรอลสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการจุกเสียดท้อง โรคเบาหวาน น้ำหนักเกินและโรคอ้วน

4 เด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและวัยรุ่นควรได้รับคาเฟอีนจากอาหารทุกชนิดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/วัน เนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและการทำงานของร่างกาย ซึ่งอาจเพิ่มความดันโลหิตทำให้เด็กมีอาการวิตกกังวล ปวดหัว และรบกวนการนอนหลับ

อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้โรคเบาหวานดีขึ้นได้เสมอไป แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเองทั้งการออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

logoline