svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เช็กอาการ “โรคหัด” ที่ระบาดในญี่ปุ่น โรคติดต่อจากคนสู่คน ป้องกันได้อย่างไร

19 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก “โรคหัด”โรคติดต่อจากคนสู่คน หลังสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประกาศการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) ในภูมิภาคคันไซ พร้อมเตือนเที่ยวบินคลัสเตอร์ ขณะที่โรคนี้จัดอยู่ในภาวะที่ทั่วโลกเฝ้าระวังตามคำประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลก

โรคติดต่อจากคนสู่คน เป็นที่น่าจับตาในหมู่นักท่องเที่ยวอีกครั้ง ภายหลัง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา เผยการแพร่ระบาดของ "โรคหัด (Measles)" ในภูมิภาคคันไซ โดยออกประกาศแนะนำให้พลเมืองไทยในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะหรืออยู่ในที่ชุมชน หมั่นรักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะการล้างมือ สังเกตอาการของตนเอง และให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการรับวัคซีนหรือรับการรักษา หลังพบการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลานี้ ความว่า

"ด้วยนครโอซากาได้ออกคำเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ขอประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนไทยทราบ ดังนี้

1. ญี่ปุ่นสามารถทำให้โรคหัดภายในประเทศหมดไปตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 67 ทางการญี่ปุ่นพบว่า มีผู้โดยสารสายการบิน Etihad เที่ยวบิน EY 830 จากกรุงอาบูดาบีสู่นครโอซากา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 ติดเชื้อดังกล่าว จึงมีประกาศคำเตือนให้ผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าว ผู้เดินทางไปสนามบินคันไซ ผู้โดยสารรถไฟสาย Nankai Electric Railway และผู้ที่ใช้บริการห้าง Super Center TRIAL Rinku Town Store ในวันดังกล่าว เฝ้าสังเกตตนเองหากมีอาการ เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศา ไอ น้ำมูกไหลและผื่น ให้รีบพบแพทย์โดยสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

2. ล่าสุด นครโอซากายืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อโรคหัดในจังหวัด รวม 2 คน และสื่อญี่ปุ่นรายงานยอดรวมผู้ติดเชื้อหัดในญี่ปุ่นรวม 8 คน ทั้งในภูมิภาคคันไซและภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นครโอซากา จ.เกียวโต จ.ไอจิ จ.กิฟุ และกรุงโตเกียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดที่เริ่มขยายวงออกไปเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในญี่ปุ่นโดยมีผู้ติดเชื้อ 744 คน และในกรณีที่มีความรุนแรง อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนให้ครบถ้วน

3. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลโรคหัด ว่าโดยทั่วไปแล้วจะเกิดอาการภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อ ดังนี้

อาการเป็นไข้ตัวร้อน ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศา ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม

อาการผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง

4. สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแนะนำให้ประชาชนไทยสวมหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะหรืออยู่ในที่ชุมชน หมั่นรักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะการล้างมือ สังเกตอาการของตนเอง และให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการรับวัคซีน หรือรับการรักษาเมื่อมีอาการด้วย"

โรคหัด (Measles)

รู้จัก “โรคหัด” โรคระบาดในญี่ปุ่น ที่สามารถติดต่อคนสู่คน

ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคหัดจัดอยู่ในภาวะที่ทั่วโลกเฝ้าระวังตามคำประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะสามารถติดต่อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดยังอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วย ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องโรคหัดและรู้จักป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

โรคหัด เป็นอย่างไร

โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles Virus) จะแม้พบได้มากในเด็ก แต่การติดเชื้อไวรัสหัดสามารถติดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะในเด็กอย่างที่เคยเข้าใจกัน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อนยิ่งมีความเสี่ยงสูง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัดจะมีระยะฟักตัวของโรคจนเกิดอาการ (ระยะก่อนออกผื่น) 8-12 วัน เฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ อาการชัดเจนคือเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Morbillivirus ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคหัดโดยเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากนี้การรับประทานวิตามินเอเสริมในผู้ป่วยโรคหัดจะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง และลดอัตราการเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคหัดและกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

โรคหัดจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง การติดโรคนั้นเกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ จากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัดหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่เป็นโรค

ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหัดนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด โดยเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินเออย่างเพียงพอจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้สูง 

นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนและได้รับเชื้ออาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากภูมิต้านทานถูกทำลายอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ รวมทั้งผู้ที่ขาดสารอาหาร จะป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ

โรคหัด ติดต่ออย่างไร

โรคหัด สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ที่แพร่เชื้อผ่านละอองอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยการไอ จาม และพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด โดยเชื้อไวรัสที่ออกมาสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 2 ชั่วโมง และพบว่าผู้ที่สัมผัสเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกันมีโอกาสติดโรคหัดได้ถึงร้อยละ 90 ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้ออาศัยอยู่ในลำคอซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ถึง 4 วันหลังผื่นเริ่มขึ้น และในบางครั้งอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

โรคหัด (Measles)

อาการของโรคหัด

โดยทั่วไปแล้ว จะเกิดอาการของโรคภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส  ดังนี้

  • อาการเป็นไข้ตัวร้อน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม
  • ระระอาการผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดมักเกิดกับทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กที่ขาดสารอาหารและภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่สุขภาพไม่ดี โดยภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้

ภาวะแทรกซ้อนทั่วไป ได้แก่

  • ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งจะนำไปสู่อาการขาดน้ำ
  • หูชั้นกลางติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหู
  • ติดเชื้อที่ตา ก่อให้เกิดอาการตาแดงเยิ้มแฉะ
  • กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
  • ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอักเสบ (Croup) เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอด

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แต่ไม่บ่อยนัก

  • ไวรัสตับอักเสบ
  • ตาเหล่ หากไวรัสส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อตา
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมองหรือที่สมอง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก

  • ตาบอด เกิดจากการติดเชื้อที่เส้นประสาทตา ทำให้เกิดโรคประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis) และนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็น
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบประสาท
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้สมองเกิดความผิดปกติ (Subacute Sclerosing Panencephalitis: SSPE) โดยจัดเป็นกรณีที่เกิดน้อยมาก พบผู้เกิดภาวะนี้ได้ 1 ใน 25,000 ราย
  • กรณีของสตรีมีครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดและติดเชื้อไวรัสนั้นมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์และคลอดก่อนกำหนด โดยผู้เป็นแม่จะคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์ ทั้งนี้ ทารกอาจจะมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอดน้อย

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้หากรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยแพทย์แนะนำให้รักษาอาการขาดน้ำอันเป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคหัดด้วยการจิบน้ำผสมผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส (Oral Rehydration Salt) เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับอาการติดเชื้อที่ตา หู และระบบทางเดินหายใจสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้

 

การป้องกันโรคหัด

โรคหัดป้องกันได้หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ  9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี

ส่วนเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน และเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการติดต่อของโรคหัดจากคนสู่คนที่ดีที่สุดคืด การสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท การหมั่นล้างมือให้สะอาด เนื่องจากโรคหัดสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ที่แพร่เชื้อผ่านละอองอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยการไอ จาม และพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด

 

แหล่งอ้างอิง : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

logoline