svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เทียบอาการลองโควิดจาก 'อู่ฮั่น' ถึง 'โอมิครอน JN.1' พบกระทบสมอง ทางเดินหายใจ

01 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เผยความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการลองโควิดที่แตกต่างกัน จากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” จนถึงการกลายพันธุ์เป็น “โอมิครอน JN.1”

เรื่องราวของโควิด-19 ยังคงมีภาคต่อให้ติดตาม จากวิวัฒนาการของเชื้อและการกลายพันธุ์ ล่าสุดมีข้อมูลที่น่าสนใจโดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ความว่า

โควิด-19 จากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” กลายพันธุ์มาถึงสายพันธุ์ปัจจุบัน “โอมิครอน JN.1” ก่อให้เกิด “อาการลองโควิด”ที่แตกต่างกันหรือไม่?

วัคซีนแต่ละชนิดและแต่ละรุ่นช่วยลดความชุกหรือกลับเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการลองโควิด?

เทียบอาการลองโควิดจาก \'อู่ฮั่น\' ถึง \'โอมิครอน JN.1\' พบกระทบสมอง ทางเดินหายใจ

วุฒิสมาชิก “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ประธานคณะกรรมการวุฒิสภาด้านสุขภาพ การศึกษา แรงงาน และเงินบำนาญของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา (ไม่สังกัดพรรค) ถือว่าลองโควิดเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกจึงได้จัดการประชุมพิจารณาภาวะลองโควิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ในหัวข้อ "การจัดการกับภาวะลองโควิด : ความก้าวหน้าของการวิจัยและการปรับปรุงการดูแลผู้ป่วย" มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงว่ารัฐสภาสหรัฐให้ความสนใจและให้ความสำคัญสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาการวิจัยและปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคลองโควิด โดยมีวุฒิสมาชิก ส.ส. นักวิจัย ผู้ประสบภัยจากลองโควิดเข้าร่วมประชุมที่อาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ใน แคปปิตอลฮิลล์โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

การพิจารณาความครั้งนี้ เป็นความจำเป็นของสภาคองเกรสในการอนุมัติการปรับปรุงพระราชบัญญัติ Pandemic and All-Hazards Preparationness and Advancing Innovation Act (PAHPA) เพื่อผนวกการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลองโควิดเข้าไปในพระราชบัญญัติฉบับปรับปรุงนี้ด้วย

เทียบอาการลองโควิดจาก \'อู่ฮั่น\' ถึง \'โอมิครอน JN.1\' พบกระทบสมอง ทางเดินหายใจ

หัวข้อหนึ่งในที่ประชุมหารือกันคือความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการลองโควิดที่แตกต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้ผลงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยให้เกิดความกระจ่าง แม้ว่าการศึกษาบางชิ้นจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างโควิดบางสายพันธุ์กับภาวะลองโควิด

ตัวอย่างเช่น การศึกษาภาวะลองโควิดในสหราชอาณาจักรชี้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเหนื่อยล้าและอาการทางระบบประสาทเมื่อติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “เดลต้า”มากกว่าสายพันธุ์ “อัลฟา”

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังต้องมีการตรวจสอบซ้ำอาศัยข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวนมากขึ้นที่มีการควบคุม

โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น XBB, EG.5.1, BA.2.86 และ JN.1 ที่ส่วนหนามกลายพันธุ์ไปอย่างมาก ทำให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับผิวเซลล์ได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าผลกระทบต่อลองโควิดจะรุนแรงมากขึ้นหรือลดลง

การศึกษาภาวะลองโควิดที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์มีความซับซ้อนมากเนื่องจากแต่ละบุคคลมีอาการลองโควิดที่แตกต่างกันอย่างมากแม้จะติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม

เทียบอาการลองโควิดจาก \'อู่ฮั่น\' ถึง \'โอมิครอน JN.1\' พบกระทบสมอง ทางเดินหายใจ

สิ่งที่เราทราบในปัจจุบันคือ

1. โควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม

สายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 (2019)

ทำให้เกิดภาวะลองโควิดติดตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เหนื่อยล้า, หายใจลำบาก, วิตกกังวล, ภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ, และอัตราการเต้นของหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมักเรียกว่า "ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome)” ทำให้เกิดปัญหาด้านความจำ ไม่ค่อยมีสมาธิ คิดได้ช้า ส่งผลให้ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ลำบากมากยิ่งขึ้น อาการทางร่างกายและอารมณ์จากภาวะสมองล้า ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะแบบเรื้อรัง หงุดหงิดง่าย และสายตาอ่อนเพลีย

"ภาวะสมองล้า" เป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยลองโควิดหลังจากหายจากโรคติดเชื้อโควิด-19  คาดว่าเกิดเพราะสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีหน้าที่ในการเชื่อมต่อข้อมูล หรือส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาทเกิดการเสียสมดุล

อาการลองโควิดตรวจพบจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น ก่อนที่จะมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนรุ่นแรกกัน ดังนั้น จึงประเมินได้ว่าวัคซีนไม่น่าจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการลองโควิด  แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล 100% ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่วัคซีนก็แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพมากในการลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจากโควิด-19 นอกจากนี้จากการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะลองโควิดได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ในที่ประชุมเน้นย้ำว่าต้องมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละรุ่นและแต่ละประเภทต่างๆควบคู่ไปด้วย  โดยวัคซีนรุ่นใหม่ควรมีการพัฒนาให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโควิดกลายพันธุ์ได้อย่างน้อย 5 ปี ไม่ควรต้องฉีดกันเป็นประจำทุกปี  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก https://bit.ly/CMG-heels)

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่บุคคลจะมีอาการคล้ายลองโควิดหลังได้รับวัคซีน หรือเรียกว่า  "Long Post-COVID Vaccination Syndrome (LPCVS)"  ก่อให้เกิดข้อสงสัยที่ว่าวัคซีนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งหรือปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดอาการลองโควิดขึ้นได้หรือไม่  ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่สนใจได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผลข้างเคียงที่ประชาชนที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆทั่วโลก คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุป

2. สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7)

พบครั้งแรกในเดือนกันยายน 2563(2020) ในสหราชอาณาจักร

มีความโดดเด่นด้วยความสามารถในการแพร่ติดต่อที่เพิ่มขึ้น ได้ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในหลายภูมิภาคในช่วงนั้นก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์เดลตาในเวลาต่อมา ก่อให้เกิดอาการลองโควิดคล้ายกับที่พบในโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม โดยส่วนใหญ่ส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ การรับรู้ และระดับพลังงาน

3. สายพันธุ์เบตา (B.1.351)

ปรากฏครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2563(2020) ในแอฟริกาใต้

มีศักยภาพในการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีนได้บางส่วน มีความพยายามที่จะประเมินความสามารถในการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเบต้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความรุนแรงของอาการลองโควิดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปผลทางคลินิกที่ชัดเจนเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ยุติลงแล้ว

เทียบอาการลองโควิดจาก \'อู่ฮั่น\' ถึง \'โอมิครอน JN.1\' พบกระทบสมอง ทางเดินหายใจ

4. ตรวจพบสายพันธุ์แกมมา (P.1)

ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563(2020) ในตัวอย่างที่รวบรวมจากมาเนาส์ ประเทศบราซิล

คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในส่วนหนามแหลมจะส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการติดเชื้อในเซลล์ และอาจรวมถึงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันด้วย การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำไปสู่อาการลองโควิดแตกต่างไปจากสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปผลทางคลินิกที่ชัดเจนเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ยุติไปแล้วเช่นกัน

5. สายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2)

อุบัติขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 (2020)ในอินเดีย

สายพันธุ์เดลต้าแพร่เชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ มีอัตราของผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น การวิจัยระบุว่าความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อเฉียบพลันอาจเชื่อมโยงกับโอกาสที่จะเกิดภาวะลองโควิดที่รุนแรงขึ้น เช่น ความเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง ปัญหาด้านสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความรู้ ความเข้าใจ และอาการป่วยไข้หลังออกกำลังกาย

การศึกษาภาวะลองโควิดในสหราชอาณาจักรชี้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเหนื่อยล้าและอาการทางระบบประสาทเมื่อติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “เดลต้า”มากกว่าสายพันธุ์ “อัลฟา” อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังต้องมีการตรวจสอบซ้ำอาศัยข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวนมากขึ้นที่มีการควบคุม

6. สายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529)

ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (2021)

มีลักษณะพิเศษคือการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามอย่างมากซึ่งนำไปสู่การแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วแม้แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันมาก่อนจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือจากการฉีดวัคซีน (breakthrough infection) ตามมาด้วยการกลายพันธุ์ต่อเนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  XBB (สิงหาคม 2565), EG.5.1 (มีนาคม 2566), BA.2.86 (มิถุนายน 2566) และ JN.1 (กรกฎาคม 2566) ทำให้เกิดความซับซ้อนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะลองโควิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบโดยรวมต่อภาวะลองโควิดอย่างครบถ้วน

โดยสรุป แม้ว่าอาการหลักของภาวะลองโควิด เช่น ความเหนื่อยล้า การทำงานของสมองบกพร่อง และภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ พบได้ในทุกสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) แต่อาการที่แท้จริง ความรุนแรง และระยะเวลาดำเนินการของกลุ่มอาการลองโควิดอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์

ดังนั้น การวิจัยและการเก็บข้อมูลทางคลินิกอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้ความกระจ่างถึงผลของลองโควิดของแต่ละสายพันธุ์เพื่อให้การดูแลและการสนับสนุนที่เพียงพอแก่ผู้ที่ทุกข์ทรมานจากภาวะลองโควิดจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆในช่วงเวลา 4 ปีของการระบาด

 

logoline