svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

สังเกตปัญหาสุขภาพจิตเด็กแต่ละช่วงวัย และปฏิกิริยาที่เข้าข่ายต้องระวัง!

31 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สร้างเกราะป้องกันให้ลูกด้วยความรักความเข้าใจในครอบครัว จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะนำวิธีการรับมือและจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในเด็กที่พ่อแม่ควรทำ พร้อมย้ำเช็ก 4 ปฏิกิริยาในเด็กสัญญาณเตือนที่สังเกตได้

ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กมีโอกาสเกิดขึ้นเหมือนกับสุขภาพจิตในผู้ใหญ่ ทั้งที่เกิดจากแรงกระตุ้นทำให้มีมูลเหตุชักจูงใจ และเกิดจากพฤติกรรมก้าวร้าวจนนำไปสู่การละเมิดและทำร้ายผู้อื่น เกิดเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งมีความผิดในทางกฎหมาย

สังเกตปัญหาสุขภาพจิตเด็กแต่ละช่วงวัย และปฏิกิริยาที่เข้าข่ายต้องระวัง!

ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กสังเกตอย่างไร?

แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ แนะนำให้คนในครอบครัวเริ่มต้นจากการสังเกตปัญหาทางสุขภาพจิตของเด็กในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • ช่วงวัยเด็กเล็ก

ปัญหาหรือพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตในเด็กเล็ก คือ “พัฒนาการและพฤติกรรมตามวัย” เช่น พูดช้า (1 ขวบถึงขวบครึ่ง แต่ยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย) ดื้อ ซน เอาแต่ใจมากเกินปกติ ส่งผลถึงการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ บางทีคุณพ่อคุณแม่มาปรึกษาว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เหมาะสม เป็นความเครียดของคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งมีลูก หรือเป็นลูกเล็ก เด็กเล็กที่มีความเครียด ซึมเศร้า มักบอกไม่ได้แบบผู้ใหญ่เพราะภาษายังไม่พัฒนา เขามักแสดงออกด้วยพฤติกรรมถดถอย ที่เคยช่วยเหลือตัวเองก็กลับทำไม่ได้ อาจมีปัญหาการกิน การนอนที่แปรปรวนไปไม่เหมือนเดิม

  • ช่วงวัยเรียน

เมื่อเด็กถึงวัยเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่เจอปัญหาเกี่ยวกับการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการอ่าน การเขียน คะแนนไม่ดี ดื้อ ต่อต้าน ซนมาก ถูกแกล้ง เข้ากับเพื่อนไม่ได้ มีปัญหากับเพื่อนหรือครู ไม่ไปเรียน ซึมเศร้า บางคนมีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ

  • ช่วงวัยรุ่น

มักเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย เช่น การคบเพื่อน การติดโซเชียลมีเดีย ติดเกม ติดซื้อของออนไลน์ ใช้ยาเสพติด พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นเรื่องปัญหาทางอารมณ์ของวัยรุ่น เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น

 

สังเกตปัญหาสุขภาพจิตเด็กแต่ละช่วงวัย และปฏิกิริยาที่เข้าข่ายต้องระวัง!

4 สัญญาณอาการปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ เผยปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก หรืออาการเจ็บป่วยทางจิตนั้น อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับระดับสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ หรือปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่, การถูกล่วงละเมิด, การถูกกดันจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง หรือแม้แต่เรื่องที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าเล็กน้อย เช่น ผิดหวังในสิ่งที่ต้องการ, ทำข้อสอบได้ไม่ดี, ทะเลาะกับเพื่อน ฯลฯ ซึ่งเมื่อเด็กเกิดความเครียด ความผิดปกติทางอารมณ์บางอย่าง ร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถสังเกตได้เป็นแนวทาง คือ

1. ความผิดปกติด้านการกิน/การนอน

มีพฤติกรรมการกินและการนอนที่มากขึ้น/น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ผิดปกติจากเดิม ในเด็กเล็กอาจงอแง หงุดหงิดง่ายหลังตื่นนอนเนื่องจากหลับไม่สนิท รวมถึงการฉี่รดที่นอนซึ่งปกติไม่เกิดขึ้นมานาน

2. หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า

การแสดงอารมณ์ที่แปรปรวนหรือรุนแรง ผิดไปจากเดิม เช่น

  • หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ฉุนเฉียว
  • ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยและเป็นเวลานาน หรือเฉยชา ไร้อารมณ์

3. พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ความผิดปกติทางพฤติกรรมนั้น สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

  • มีอาการป่วยบ่อยครั้งทั้งที่เคยเข็งแรงดี เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
  • ไม่ใส่ใจดูแลสุขอนามัยของตนเอง ไม่อาบน้ำหวีผม ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ หรือปล่อยให้ห้องรกสกปรกทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • การกระทำที่มากไป/น้อยไปจนเกินพอดี เช่น ลุกขึ้นมาทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม โหมทำ หรือกลายเป็นคนที่เฉื่อยชา ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีแรงจูงใจทำแม้แต่กิจกรรมที่เคยชอบ
  • มีการแสดงออกที่แปลกจากเดิม เช่น พูดเร็ว/ช้าผิดปกติ, วิตกกังวล, สับสนและย้ำคิดย้ำทำ
  • ในเด็กเล็กอาจมีพฤติกรรมเกาะติดพ่อแม่ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บ่งบอกถึงความโดดเดี่ยว กลัว ไม่มั่นใจ  

4. เก็บตัว หลีกหนีสังคม

เมื่อลูกเริ่มงอแงไม่อยากไปโรงเรียนโดยแสดงอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวล ให้คุณพ่อคุณแม่เปิดใจพูดคุย รับฟังลูก หรือคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่ลูกอาจจะมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียนหรือถูกกลั่นแกล้งได้ รวมถึงอาการหลีกหนีสังคม หมกตัวอยู่แต่ในห้อง/บ้าน ไม่พูดคุย เหม่อลอย สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญที่พ่อแม่ควรรีบให้ความช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่รุนแรงได้

ทั้งนี้ สัญญาณและอาการต่างๆ ที่ลูกแสดงออกนั้น บางครั้งเกิดขึ้นโดยที่พวกเขาเองไม่รู้ตัว หรือไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น การสังเกตอย่างใส่ใจและเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยให้อาการลูกดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษากับจิตแพทย์เด็กควบคู่กันไปเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย

 

วิธีการรับมือและจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในเด็กที่พ่อแม่ควรทำ

สำหรับวิธีการรับมือ ป้องกัน และจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก พ่อแม่สามารถทำได้โดยเริ่มต้นจาก

• ความสัมพันธ์ที่ดีของเด็กและพ่อแม่ ตรงนี้เป็นวัคซีนเบอร์หนึ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่พูดคุยด้วยเหตุผล สื่อสารเชิงบวกให้ความรักความอบอุ่น มีเวลาให้ลูก สร้างบรรยากาศบ้านที่ปลอดภัย เด็กมีที่พึ่งพิงทางใจ

• พ่อแม่ควรเข้าใจลักษณะของเด็ก ยอมรับธรรมชาติ ให้โอกาสพัฒนาปรับปรุง ไม่คาดหวังเกินไปจนผิดธรรมชาติ

• ฝึกการจัดการปัญหาให้เด็กตามสมควร ไม่ต้องช่วยตลอด ให้ลองทำอะไรเอง ทำให้เด็กมั่นใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทอดทิ้ง ทำให้เขารู้สึกว่ามีที่พึ่งพิง

• สร้างกำลังใจ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางใจ เพราะการชมเชยในจุดที่ดี นำมาสู่ความภาคภูมิใจในตัวเอง

• พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตความรู้สึกลูก ละเอียดอ่อนกับความรู้สึกเด็ก การเข้าใจความรู้สึกของเขาช่วยให้เด็กเข้าใจ และจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้

สังเกตปัญหาสุขภาพจิตเด็กแต่ละช่วงวัย และปฏิกิริยาที่เข้าข่ายต้องระวัง!

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตที่ดี

สำหรับแนวปฏิบัติในการเลี้ยงลูกเพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพจิตที่ดี คือปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่าเด็กคนหนึ่งจะมีสุขภาพจิตที่ดี เติบโตเป็นคนที่รับมือกับสถานการณ์ในชีวิต มีจิตใจที่เข้มแข็งและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีร้ายในชีวิต ซึ่งวิธีการต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้ได้

• พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ดีก่อน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักละเลยตรงนี้ เพราะเมื่อพ่อแม่มีความเครียด หรือปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็ส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกได้

• ให้ความรัก มีเวลาให้ลูก พูดคุยกับลูก เล่น เล่านิทาน ทำกิจกรรมกับลูกบ่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

• รับฟังลูกมากๆ เวลาลูกอยากเล่าอะไรให้ฟัง ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ลูกก็ฟังพ่อแม่มากขึ้น และอยากเล่าอยากระบายสิ่งต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง

• อย่าปล่อยให้ลูกติดหน้าจอเกินไป เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูหน้าจอทุกชนิด เช่น มือถือ แท็บเล็ต ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ พ่อแม่จำเป็นต้องชวนลูกทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เพราะสาเหตุหนึ่งของเด็กและวัยรุ่นยุคนี้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากการใช้หน้าจอมากเกินไป สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ต้องไม่ติดจอด้วย เป็นตัวอย่างที่ดี หากจำเป็นต้องดูจริงๆ ควรดูไปพร้อมกับเด็กเพื่อให้คำแนะนำ และเพิ่มความเข้าใจกันมากขึ้น

• สอนให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป ให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักอดทนรอคอย

• สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่างจนลูกติดสบายเกินไป

• มีเมตตาและเอาใจลูกมาใส่ใจเรา ปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรักและเข้าใจ ช่วยให้ลูกรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจ

• เข้าใจพัฒนาการเด็กพื้นฐาน รู้ว่าเด็กวัยนี้ควรทำอะไรได้หรือยังทำไม่ได้ ไม่เร่งรัดเด็กเกินไปจนเป็นความกดดันและทำให้เกิดความเครียดโดยที่ไม่ตั้งใจ

• ไม่ต้องเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกคนอื่น ยอมรับในตัวตนที่ลูกเป็น ทุกคนมีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ มีข้อดีข้อเสีย เป็นปกติมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ทำให้ลูกเข้าใจและยอมรับในตัวตน มองเห็นคุณค่าในตัวเอง เติบโตเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองได้

• ชมเชยเมื่อเห็นว่าลูกทำได้ดี เน้นชมเชยที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ต้องเน้นผลลัพธ์

• ควรให้ลูกเรียนรู้การรับผิดชอบ ถ้าลูกทำไม่ถูก มีการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม แต่ไม่ควรลงโทษด้วยความรุนแรง ให้ลูกรู้ว่าทำผิดก็ต้องปรับปรุงตัวแก้ไข ทุกคนก็ทำผิดได้ และมีโอกาสทำให้ดีขึ้น

• สอนให้ลูกมีทักษะจัดการอารมณ์ที่ดี รู้จักผ่อนคลายความเครียด เวลามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ ก็เข้าใจตระหนักรู้ถึงอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ เสียใจได้ แต่ไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาทางสุขภาพจิตบางอย่างหากพัฒนาจนเป็นโรค จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เด็ก อาจต้องใช้ยารักษาร่วมกับการทำจิตบำบัดและการปรับตัวของคนใกล้ชิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ถ้าเกิดชั่วคราวและดีขึ้น อาจไม่ถึงกับเป็นโรคทางจิตเวช แต่เมื่อใดที่ปัญหาเหล่านี้มีผลกับการใช้ชีวิตของเด็ก การเรียน การอยู่กับคนอื่น ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ ก็จำเป็นต้องไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

logoline