svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ทำความรู้จัก "ไซยาไนด์" สารเคมีสุดอันตราย อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด!

15 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จักสาร "ไซยาไนด์" สารเคมีที่มีพิษรุนแรง ทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน แต่รู้หรือไม่ "ไซยาไนด์" มีอยู่รอบตัวเรามากกว่าที่คิด หากได้รับพิษควรทำอย่างไร รู้เท่าทันไว้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิต

สาร "ไซยาไนด์" เข้ามาเกี่ยวพันกับข่าวและคดีสะเทือนขวัญอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เคสแรกคงหนีไม่พ้นวงแชร์มรณะ "แอม ไซยาไนด์" ที่ก่อเหตุวางยาเหยื่อ 15 ราย ในพื้นที่ 8 จังหวัด มาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนเรื่องจะแดงขึ้นในปี 2566 

ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2566 ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้โพสต์เรื่องราวเตือนเป็นอุทาหรณ์ เมื่อหนูน้อยเผลอดื่มน้ำยาล้างเครื่องเงิน ที่ผสม "ไซยาไนด์" อาการวิกฤต แต่สุดท้ายโชคดีรอดชีวิตมาได้ เนื่องจากได้รับยาต้านพิษได้ทันท่วงที

ล่าสุด คดีการเสียชีวิตปริศนาของ "พริตตี้โยโกะ" พริตตี้ตัวแม่แห่งมอเตอร์โชว์ เมื่อ 2 พ.ย. 2566 ผลชันสูตรออกมาพบว่า "ไซยาไนด์" ในร่างกาย ครอบครัวคาใจในหลายประเด็น ไม่เชื่อลูกปลิดชีพตัวเอง สงสัยแฟนหนุ่มที่ใกล้ชิดอาจจะมีส่วนในการเสียชีวิต เพราะพบพิรุธหลายอย่าง
สารไซยาไนด์ มีพิษรุนแรง

ทำความรู้จัก "ไซยาไนด์"
ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง สารนี้อยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว แก๊ส เช่น Hydrogen Cyanide, Potassium Cyanide, Sodium Cyanide 

ทั้งนี้ มีการนำไซยาไนด์มาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดแร่ ผลิตกระดาษ พลาสติก หนังเทียม

นอกจากนี้ ไซยาไนด์ ยังพบในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด และถั่วบางชนิด ซึ่งหากนำมารับประทานแบบดิบในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการพิษจากไซยาไนด์ สารนี้หากมีการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ไซยาไนด์ ยังเป็นสารที่สามารถพบได้ในบุหรี่ งานวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วระดับของไซยาไนด์ในเลือดของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นมีค่าสูงกว่าคนไม่สูบถึง 2.5 เท่า
พบสาร "ไซด์ยาไนด์" ในบุหรี่
ไซยาไนด์ มี 3 รูปแบบ

  • รูปแบบของผงสีขาว ที่เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่น แต่หากได้รับความชื้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งมีกลิ่นฉุน 
  • รูปแบบของของเหลว ในงานอุตสาหกรรม การชุบโลหะ การสังเคราะห์สารเคมี เช่น น้ำยาประสานทอง สี และสารเคมีกำจัดแมลงบางชนิด นอกจากนี้ยังพบได้จากเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านบางชนิดเช่น น้ำยาล้างเล็บมี acetonitrile ปนอยู่ และน้ำยาล้างเครื่องเงิน
  • รูปแบบของแก๊ส ภาวะก๊าซ Hydrogen cyanide เป็นแก๊สไม่มีสี อาจพบได้จากการเผาไหม้สารพลาสติก เมลามีน ขนสัตว์ และหนังเทียม มักพบได้ในเหตุเพลิงไหม้

อาการของผู้ได้รับ "ไซยาไนด์"
อาการของผู้ได้รับ ไซยาไนด์ ขึ้นอยู่กับปริมาณ ซึ่งหากได้รับปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ได้สารพิษจะมีอาการปวดหัว การรับรสผิดปกติ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดท้อง และกระวนกระวาย การสูญเสียการมองเห็น โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

การสะสมของสารไซยาไนด์จากการรับประทานพืชบางชนิดในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มันสำปะหลัง ทำให้มีอาการชา สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน ประสาทตาฝ่อ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานวิตามิน B12

อาการของผู้ที่ได้รับไซยาไนด์ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับสารพิษ และความปริมาณของสารพิษที่ได้รับ จะมีอาการ ดังนี้ 

  • ระคายผิวหนัง
  • ผื่นแดง
  • บวมน้ำ
  • มึนงง
  • คลื่นไส้
  • กระวนกระวาย
  • การรับรสผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ลมชัก
  • หมดสติ
  • อาเจียน
  • ไตล้มเหลว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจหยุดเต้น

ส่วนภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก อาการมักจะเกิดขึ้นในทันที เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หายใจติดขัด ชัก วูบหมดสติ หยุดหายใจ และอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 10 นาที สังเกตสีบริเวณผิวหนังและเยื่อบุจะแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีภาวะหยุดหายใจก็ตาม
สาร ไซยาไนด์
วิธีการปฐมพยาบาล หากสัมผัส "ไซยาไนด์" 
ผู้สัมผัสกับไซยาไนด์ทางผิวหนัง

  • เมื่อไซยาไนด์สัมผัสกับผิวหนัง ให้รีบล้างผิวบริเวณที่สัมผัสกับไซยาไนด์ด้วยสบู่และน้ำทันที โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนัง อย่างน้อย 15 นาที ทั้งนี้ผู้ที่ทำการช่วยเหลือควรป้องกันตนเองโดยการสวมชุดและหน้ากากป้องกัน และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

หากไซยาไนด์หกรดลงบนเสื้อผ้า

  • ให้รีบถอดเสื้อผ้าออกโดยเร็ว หรือใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าส่วนนั้นออกเพื่อป้องกันไม่ให้สารพิษสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

ผู้สัมผัสไซยาไนด์ทางดวงตา

  • เมื่อไซยาไนด์สัมผัสกับดวงตา ให้ล้างตาด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านดวงตาอย่างน้อย 15-20 นาที และห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด หากใส่คอนแทคเลนส์ ให้ใช้มือสะอาดถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนล้างดวงตา และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ผู้ได้รับไซยาไนด์ผ่านการสูดดม หรือผ่านการรับประทานอาหาร

  • โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ให้รีบย้ายร่างของผู้ป่วยมาในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เช่น ภายนอกอาคาร หรือใกล้กับหน้าต่าง
  • ห้ามให้น้ำหรืออาหารแก่ผู้ป่วยโดยเด็ดขาด
  • หากผู้ป่วยหมดสติหรือไม่หายใจ ให้ทำ CPR หรือการนวดหัวใจกู้ชีพโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ผู้กู้ชีพไม่ควรทำการผายปอด หรือเป่าปากโดยเด็ดขาดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไซยาไนด์ ระหว่างรอการช่วยเหลือทางการแพทย์ ให้ทำการกู้ชีพอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูล และอาการของผู้ป่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
ทำความรู้จัก \"ไซยาไนด์\" สารเคมีสุดอันตราย อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด!
การรักษาพิษจาก ไซยาไนด์
การแก้พิษนั้่น ทำได้โดยแพทย์เท่านั้น โดยการให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์ เป็น thiocyanate ซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamine  ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamine ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย

นอกเหนือจากการรักษามาตรฐานผู้ถูกพิษแล้ว รวมถึงการให้ activated charcoal หากได้รับทางการกิน สามารถให้ยาแก้พิษ (Antidote) ได้เลยโดยไม่รอผลตรวจระดับไซยาไนด์ในเลือด ซึ่งคือยาฉีด Hydroxocobalamin คู่กับยาฉีด Sodium thiosulfate เป็นตัวเลือกแรก และยาฉีด Sodium nitrite เป็นตัวเลือกที่สองโดยยังมีโอกาสรอดชีวิตน้อย

หลังได้ยา Hydroxocobalamin มีผลข้างเคียง เปลี่ยนสีผิวหนัง เลือด และปัสสาวะเป็นสีแดง 2-3 วัน และการให้ sodium nitrite ทำให้เกิด methemoglobin ในร่างกายเพื่อแย่งจับกับตัวออกฤทธิ์ของสารไซนาไนด์ มีพิษเช่นกันแต่น้อยกว่า ทำให้ความดันโลหิตตก ชีพจรเร็ว ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้  เรียกว่าใช้พิษต้านพิษก็ไม่ผิดนัก

การสัมผัสกับไซยาไนด์เป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพิษรุนแรง ดังนั้น การรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด สามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้
ทำความรู้จัก \"ไซยาไนด์\" สารเคมีสุดอันตราย อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด!

logoline