svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'ไทรอยด์เป็นพิษ' กับ 'มะเร็งไทรอยด์' สังเกตความต่างอย่างไร?

30 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เคล็ดลับสุขภาพ : อาการบอกโรค “มะเร็งต่อมไทรอยด์” เหมือนหรือต่างกับ "ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไฮเปอร์ไทรอยด์" อยากรู้ต้องอ่าน!!

ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะในร่างกายสำคัญที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จากข่าว "หมอสมรส" หรือ นพ.สมรส พงศ์ละไม อัปเดตอาการหลังป่วยมะเร็งไทรอยด์ล่าสุด พร้อมจะใช้เวลา 2 ปีที่เหลือเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีทั้งหมดให้อาจารย์แพทย์เพื่อประโยชน์ในอนาคตวงการแพทย์ เราขอเป็นกำลังใจให้อาการป่วยทุเลาลง และกลับมาเป็นบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ

รู้จัก “ต่อมไทรอยด์” ให้มากขึ้น

ข้อมูลโดย ผศ.ดร.นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายเรื่องต่อมไทรอยด์ไว้ว่า “ต่อมไทรอยด์” เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย (ต่อมไร้ท่อ หมายถึง ต่อมที่สร้างสารที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ในต่อม และปล่อยฮอร์โมนนั้นเข้าสู่กระแสเลือดและไปทำงานในอวัยวะอื่นในร่างกาย) โดยจะอยู่บริเวณหน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้างซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ แต่ละข้างจะมีขนาดประมาณ 4-5x1.5-2.0 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 15-25 กรัม

 

หน้าที่สำคัญของต่อมไทรอยด์ คือสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิสมที่อวัยวะต่างๆ โดยสารตั้งต้นที่มีความสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน คือ "สารไอโอดีน" และหากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติไปได้ นั่นคือ หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ก็จะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานมากตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย กินจุ น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกตามฝ่ามือ ท้องเสีย เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยเกินไป ก็จะเกิดอาการเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง น้ำหนักเพิ่ม อาจมีอาการขาบวม ท้องผูก ขี้หนาว เป็นต้น

\'ไทรอยด์เป็นพิษ\' กับ \'มะเร็งไทรอยด์\' สังเกตความต่างอย่างไร?

"ไทรอยด์เป็นพิษ" กับ "มะเร็งไทรอยด์"

รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายเรื่องนี้ว่า เรามักจะได้ยินคนบอกว่าเป็น “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” บ่อยๆ หรือบางคนอาจบอกว่า คอพอกเป็นพิษ พอได้ยินเรื่อง “เป็นพิษ” ก็มักจะคิดกันไปว่าเป็นโรคร้ายแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลัวว่าจะเป็นมะเร็ง ความจริงแล้วต่อมไทรอยด์สามารถเป็น “มะเร็ง” ได้ แต่โรคที่เป็นคือมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ส่วนเรื่องไทรอยด์เป็นพิษนั้น คนละเรื่องกัน ไม่ใช่มะเร็ง และมีโอกาสเป็นมะเร็งไทรอยด์น้อยมาก

"ไทรอยด์เป็นพิษ" เป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร
ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะหรือโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย

อาการที่พบคือ

  • ใจสั่น
  • หงุดหงิด
  • ขี้ร้อน
  • เหงื่อออกง่าย
  • กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่ม หรือกลับผมลง
  • บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น
  • บางคนมีอาการท้องเสีย
  • บางคนก็ตาโปนออก

รู้ได้อย่างไรว่า "ไทรอยด์เป็นพิษ" และรักษาอย่างไร

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นแพทย์จะตรวจเลือด เมื่อพบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ การรักษาหลักของไทรอยด์เป็นพิษ คือ การกินยา เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆลดยาลง และ หยุดยาได้ในที่สุด หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ การกินไอโอดีนกัมมันตรังสี ระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษามักจะประมาณ 2 ปี

"มะเร็งไทรอยด์" เป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร

มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์กลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์มักจะเริ่มเป็นก้อนที่บริเวณต่อมไทรอยด์ (ด้านหน้าลำคอ) ต่อมาก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตมากขึ้น อาจมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเกิดเป็นก้อนขึ้นที่ด้านข้างลำคอ (ต่อมน้ำเหลือง) หรือมีก้อนตามตัวที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ศีรษะ ซี่โครง สะโพก ฯลฯ บางคนอาจมีอาการเสียงแหบ หรือก้อนใหญ่ขึ้นจนหายใจไม่สะดวก

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น "มะเร็งไทรอยด์" และรักษาอย่างไร

มะเร็งไทรอยด์ เมื่อเป็นน้อยๆ มักไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้น เมื่อ “พบก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนขึ้น-ลง ตามการกลืนน้ำลาย” ควรพบแพทย์ แพทย์จะทำการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเซลล์จากต่อมไทรอยด์มาตรวจ (fine needle aspiration) ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

ดังนั้น รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ จึงสรุปว่า “ไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ใช่มะเร็งไทรอยด์” หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าไทรอยด์เป็นพิษ ก็เข้าใจได้ว่า “ไม่ใช่มะเร็งไทรอยด์” เพราะโอกาสที่มะเร็งไทรอยด์จะเป็นพิษด้วยนั้นเป็นไปได้ยากมาก และโอกาสที่ไทรอยด์เป็นพิษจะเป็นมะเร็งนั้น ก็น้อยมากเช่นกัน

\'ไทรอยด์เป็นพิษ\' กับ \'มะเร็งไทรอยด์\' สังเกตความต่างอย่างไร?

ใครบ้างเสี่ยงมะเร็งไทรอยด์?

ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งไทรอยด์เกิดจากสาเหตุใด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น การได้รับรังสีบริเวณลำคอหรือบริเวณต่อมไทรอยด์ เคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ขาดธาตุอาหารไอโอดีน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์มักพบมะเร็งไทรอยด์ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 25 – 65 ปี 

อาการชวนสงสัยว่าเป็น “มะเร็งไทรอยด์”

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการ “ก้อนที่คอ” โดยที่ก้อนนั้นมักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามจังหวะการกลืน ก้อนดังกล่าวมักจะไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด ถ้าคลำไปที่ก้อนจะพบว่าก้อนมีลักษณะแข็ง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักจะ “ไม่ใช่ก้อนมะเร็ง” แต่เป็นเนื้องอกอย่างอื่นที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจก้อนเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสมอ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้ว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่

ความผิดปกติที่สังเกตได้ สำหรับมะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ  ผู้ป่วยอาจคลำพบ “ก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ” ก้อนเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน ในรายที่มีอาการก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มีการแพร่กระจาย เช่น

  • เสียงแหบ
  • หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด
  • กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน
  • เจ็บบริเวณลำคอ และปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวม

หากสำรวจพบว่ามีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป 

มะเร็งไทรอยด์มีกี่ชนิด

โรคมะเร็งไทรอยด์สามารถแบ่งตามลักษณะของเซลล์มะเร็งได้ดังนี้

  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cell) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยรองจากชนิดพาพิลลารี่ โดยเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) และเมื่อตรวจพบระดับฮอร์โมนแคลซิโทนินในเลือดสูงขึ้น ก็อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ในระยะแรกเริ่มได้
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รักษาได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ยากและมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเกิดความผิดปกติขึ้นที่เซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ และเซลล์เนื้อร้ายมักเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

สรุปคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์เริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเซลล์อะไร แต่โดยทั่วไปแล้วมะเร็งของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “มะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่” รองลงมาคือ “มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์” ซึ่งมะเร็งทั้งสองอย่างถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงน้อยเพราะแบ่งตัวเจริญเติบโตช้า แต่ก็มีมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิดที่เติบโตแบ่งตัวเร็ว ทำให้ก้อนมักมีขนาดใหญ่และรักษายาก นั่นคือ “มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก”

logoline