svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

28 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภัยเงียบสุขภาพในผู้หญิงอย่าปล่อยไว้นาน เช็กอาการ “อ้วน เป็นสิว ผิวมัน ขนดก รอบประจำเดือนขาด” สัญญาณอาการผิดปกติ ก่อนจะมีบุตรยากแถมเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งร้าย

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือเรียกย่อว่า PCOS เป็นภาวะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตัวว่าเป็น พบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25-35 ปี และพบได้มากขึ้นในสตรีที่มีภาวะอ้วน  ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) แม้ว่าอาการอาจดูไม่รุนแรง แต่หากไม่รักษาจะส่งผลให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และเสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

ทำไมผู้หญิงน้ำหนักเกิน เสี่ยงภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) มากกว่าคนปกติ

การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์เป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะอ้วน อาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ การสร้างฮอร์โมนเพศผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากเกินไป การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อย มาแบบกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหายไป และนำไปสู่ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด PCOS แต่เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่จึงส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต ฯลฯ

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

สิวขึ้นที่จุดเดิมซ้ำๆ เสี่ยงเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) จริงหรือไม่?

เรื่องของการเป็นสิว อาจต้องดูถึงตำแหน่งที่สิวเกิดขึ้นว่าเป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมนหรือไม่ โดยวิธีสังเกตสิวที่มาจากฮอร์โมน คือจะขึ้นบริเวณทีโซนของใบหน้า หน้าอก-หลัง หรือหน้ามัน เพราะสิวส่วนใหญ่มักเกิดจากฮอร์โมนจำพวกแอนโดรเจน ซึ่งก็คือฮอร์โมนเพศชาย หากสิวที่เกิดขึ้นเป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมน ก็อาจแสดงถึงอาการนำของคนที่เป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้

อาการผิดปกติที่ต้องสังเกตของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ได้แก่

  • ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6 – 8 ครั้งต่อปี
  • รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบในผู้หญิงที่ปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ ทั้งกะปริบกะปรอย มามากเกินไป มานานเกินไป อาจเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
  • ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน คือฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อผู้หญิงมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน
  • ความอ้วน น้ำหนักเกินมากไปทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) หากไม่รีบรักษา

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบส่งผลให้ "มีบุตรยาก" เนื่องจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  • หากตั้งครรภ์มีโอกาส "แท้งบุตร" ในช่วง 3 เดือนแรก เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
  • เพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม
  • ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดในสมอง 

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

ใครบ้าง! เสี่ยงเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

  • ผู้หญิงที่มีรอบประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่เป็นรอบ หรือหายไปหลายๆ เดือนแล้วมานานๆ ครั้ง
  • ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีภาวะอ้วน
  • ผู้หญิงที่มีสิวขึ้นมากกว่าปกติ มีผิวมัน มีภาวะศีรษะล้าน หรือมีภาวะขนดก
  • ผู้หญิงที่มีประวัติมีบุตรยาก
  • ผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะเครียด

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

เริ่มจากการซักประวัติ โรคประจำตัว การมีประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด และยาฮอร์โมน ต่อด้วยตรวจร่างกายทุกระบบ ได้แก่ วัดความดันโลหิต ส่วนสูง น้ำหนัก ตรวจภาวะแอนโดรเจนเกิน พร้อมคำนวณค่าดัชนีมวลกายเพื่อดูภาวะโรคอ้วน และตรวจภายในโดยการอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน

หากเข้าข่ายผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เมื่อลดน้ำหนักได้ในเกณฑ์ปกติ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ

รักษาด้วยการทานยา : วิธีนี้หากผู้ป่วยยังไม่มีการวางแผนที่จะมีบุตร สามารถรักษาได้โดยการทานยาคุมกำเนิดเพื่อให้ตัวยาไปควบคุมฮอร์โมน ให้ฮอร์โมนกลับสู่สภาวะปกติ โดยจะใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงติดตามสังเกตอาการต่อว่าหลังจากหยุดทานยาไปแล้ว ประจำเดือนกลับมาปกติหรือไม่ หากประจำเดือนของผู้ป่วยยังผิดปกติอยู่ และผู้ป่วยยังไม่มีการวางแผนที่จะมีบุตรต่อไป การรักษาก็จะเป็นการทานยาคุมและติดตามผลต่อไป

การรักษาอื่นๆ : จะเป็นการรักษาตามสาเหตุ เช่น การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย คุมอาหาร ถ้าคนไหนที่เป็นเบาหวานอาจต้องคุมอาหารจำพวกน้ำตาลให้มากขึ้น

เตือนผู้หญิงน้ำหนักเกิน-รอบเดือนเลื่อน เสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)   

วิธีป้องกันภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

เนื่องจากการเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ยังไม่อาจทราบได้ว่ามาจากสาเหตุใดอย่างแน่ชัด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นการป้องกันโดยรวม เช่น

  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เพราะการที่มีน้ำหนักมากอาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความผิดปกติได้
  • กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ไม่กินแป้งหรือน้ำตาลมากเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ทำให้ตนเองอยู่ในสภาวะเครียดมากเกินไป

ทั้งนี้ การตรวจภายในก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันตัวเองได้ดีที่สุด รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อัลตร้าซาวด์มดลูก รังไข่ ช่องท้อง หรือตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เนื่องจากเปรียบเสมือนการตรวจเช็กร่างกาย หากพบรอยโรคหรือภาวะที่อาจก่อให้เกิดโรคทางนรีเวชได้ก่อนที่มันจะร้ายแรง ก็สามารถรับมือและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

logoline