svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

หมอมนูญเผยข้อมูลระบาดวิทยา ก.ย.2566 พบไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด-19

06 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เผยข้อมูลการระบาดของเชื้อไวรัสที่พบมากประจำเดือนกันยายน 2566 ชี้ “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดแซงหน้าโควิด-19 แล้ว พร้อมเตือนรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรค

หันไปทางไหน...ทำไมเจอแต่คนป่วย! นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เผยการติดตามข้อมูลระบาดวิทยาเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี (RSV) และ Human metapneumovirus (hMPV)

หมอมนูญเผยข้อมูลระบาดวิทยา ก.ย.2566 พบไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด-19

  • เดือนกันยายนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 208 ราย พอๆ กับเดือนสิงหาคม
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เดือนที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 588 ราย
  • เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ RSV เพิ่มขึ้นเป็น 146 ราย
  • เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ hMPV Human metapneumovirus เพิ่มขึ้นเป็น 20 ราย
  • โรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่เพิ่มขึ้นเป็น 36 ราย
  • พบโรคชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย 1 ราย
  • โรคไวรัส Noro (โนโร) และ Rota (โรตา) ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เดือนที่แล้วพบโนโรไวรัส 5 ราย พบโรตาไวรัส 1 ราย

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คงที่ ไข้หวัดใหญ่ RSV, hMPV และไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่แซงหน้าไวรัสโควิด 2 เดือนแล้ว ช่วงนี้เด็กและผู้ใหญ่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจเยอะมาก มาด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แยกไม่ออกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ RSV, hMPV โควิด-19 หรือไวรัสตัวอื่นๆ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จึงจะบอกได้ว่าติดเชื้อตัวไหน

ขอแนะนำให้คนที่ปีนี้ ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ไปรับวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่และไข้หวัดใหญ่อย่างละ 1 เข็ม สามารถให้พร้อมกันได้

หมอมนูญเผยข้อมูลระบาดวิทยา ก.ย.2566 พบไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด-19

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “ไข้หวัดใหญ่”

โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกช่วงอายุซึ่งมักพบในเด็ก แต่อัตราการเสียชีวิตเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดเวลาการหยุดงาน

“ไข้หวัดทั่วไป” เป็นการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ส่วน “ไข้หวัดใหญ่”​ เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Influenza virus เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจะลามลงปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อย่างเฉียบพลัน

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้โดย

  • การหายใจ ได้รับน้ำมูก หรือเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
  • การได้สัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น
  • การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเข้าปาก

อาการของโรค

ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน

  1. ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
  2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  4. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
  5. ไข้สูง 39-40 องศา
  6. เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใสๆ ไหล
  7. ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
  8. อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์

สำหรับรายที่อาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นๆ เช่น

  • พบอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
  • ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
  • ระบบหายใจ:มีหลอดลมอักเสบและปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
  • โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางราย มีอาการไอ และปวดตามตัวนานถึง 2 สัปดาห์ ในรายที่เสียชีวิตมักมีอาการปอดบวม และโรคหัวใจ

ระยะติดต่อ

  • ระยะเวลาการติดต่อของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากคนอื่นๆ คือ1วันก่อนเกิดอาการ และ 5 วันหลังมีอาการ
  • ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้ปอดบวม มีฝีในปอด มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • ไข้หวัดในหญิงตั้งครรภ์ มักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก และอาจทำให้แท้งบุตรได้

หมอมนูญเผยข้อมูลระบาดวิทยา ก.ย.2566 พบไข้หวัดใหญ่แซงหน้าโควิด-19

เมื่อไรที่ควรมาพบแพทย์

  • มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
  • ให้ยาลดไข้แล้วยังเกิน 5 องศา
  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการ มากกว่า 7 วัน
  • ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
  • เด็กดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่พอ
  • เด็กซึมลง ไม่เล่น
  • เด็กไข้ลดลง แต่หายใจไม่ออก

ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ควรมาพบแพทย์

  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง
  • เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
  • หน้ามืด เป็นลม สับสน หน้ามืด
  • อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วยให้พักที่บ้าน เวลาไอ หรือจามให้ใช้ผ้าปิดปาก และจมูก

การฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่

การป้องกันที่ดีคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโปรตีนประเภทไข่ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้ การฉีด จะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน คือ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
  • ผู้เป็นเบาหวาน
  • หญิงตั้งครรภ์ 3เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • นักเรียนที่อยู่ร่วมกัน
  • ผู้ที่จะไปเที่ยว หรือศึกษาต่อ ณ แหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ และต้องได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรทราบ คือเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วไป มีไข้ ปวดตามตัว และหลังจากการฉีดยา  6-12 ชั่วโมง และอยู่ได้นาน 1-2 วัน บางรายอาจมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม

 

logoline