svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ไอบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นาน รู้จักภาวะ “ไอเรื้อรัง” และสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการ

19 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หายป่วยแล้วแต่ยังไม่หายไอ!! เป็นเพราะอะไร เช็กอาการภาวะ “ไอเรื้อรัง” บอกโรคอะไรได้บ้าง พร้อมเคล็ดลับยับยั้งไอด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยทั้งร้อนทั้งฝน คนจึงป่วยไข้ได้ง่ายกว่าปกติ ในขณะที่หลายคนหายป่วยแล้วแต่ยังมีปัญหาสุขภาพบางอย่างหลงเหลือ เช่น ไอ ซึ่งอาการไอหลังเป็นหวัด หรืออาการไอหลังติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Post-infectious cough) คือการไอหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งโดยปกติก็จะไอมาก่อนแล้วราว 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มเป็นหวัด ไม่ว่าเกิดจากไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด แม้ว่าอาการไข้ เจ็บคอ จะหายไปแล้ว แต่บางคนยังคงมีอาการไอต่อเนื่องไปอีก 3-8 สัปดาห์ ซึ่งโดยปกติอาการไอจะหายไปภายใน 2 เดือนโดยไม่ต้องรักษา

ไอบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นาน รู้จักภาวะ “ไอเรื้อรัง” และสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการ

กลไกของการไอ

อาการ "ไอ" เป็นการตอบสนองของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ หรือฝุ่นควัน ร่างกายก็จะพยายามกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา ซึ่งส่วนมากการไอต่อเนื่องมักเป็นไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ก็จะหาย หากบางกรณีที่ไม่ใช่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่กำจัดได้ด้วยการไอ เช่น อาจมีบางอยากไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือหลอดลมทำให้เกิดอาการไอ เช่น ก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมา แต่ไม่สามารถขับได้ จึงเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่ไม่หายไป

ภาวะ “ไอเรื้อรัง” คืออะไร?

ไอเรื้อรัง คือการไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ภาวะไอเรื้อรังมีสาเหตุที่หลากหลาย อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด บางกรณีภาวะไอเรื้อรังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหัวใจวาย

ดังนั้น การหาสาเหตุของไอเรื้อรังอาจไม่ได้คำตอบในการพบแพทย์ครั้งแรก การวางแผนการวินิจฉัยและติดตามการรักษาจึงต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

 

ไอแบบไหนเรียกว่า "ผิดปกติ" และควรไปพบแพทย์

  • ไอติดต่อกันมากกว่า 8 สัปดาห์
  • อาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก
  • ไอมีเลือดปนเสมหะ
  • ไอจากการที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ เมื่อมีอาการไอควรรีบมาพบแพทย์

ไอเรื้อรังอย่าปล่อยไว้!! เพราะอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคเหล่านี้

  • วัณโรคปอด แม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
  • มะเร็งปอด เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย
  • ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง
  • โรคหืด มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย
  • โรคภูมิแพ้อากาศ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
  • กรดไหลย้อน มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอกหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
  • ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นๆ ถูกลม เป็นต้น

ไอบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นาน รู้จักภาวะ “ไอเรื้อรัง” และสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการ

สมุนไพรช่วยยับยั้งอาการไอ

ข้อมูลโดย ผศ.ดร.วีณา นุกูลการ อ.ดร.ปองทิพย์ สิทธิสาร ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ปัจจุบันยาบรรเทาอาการไอหรือยาแก้ไอที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมักเป็นยาแผนปัจจุบันที่ผลิตจากตัวยาสังเคราะห์ เช่น กลุ่มยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ได้แก่

  • ยาขับเสมหะ เช่น glyceryl guaiacolate
  • ยาละลายเสมหะ เช่น bromhexine, ambroxol หรือ acetylcysteine
  • กลุ่มยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้ง ได้แก่ dextromethorphan, codeine, levodropropizine และ butamirate

นอกจากนี้ ยังมียาที่ผลิตจากสมุนไพรที่เป็นยาบรรเทาอาการไอขนานดั้งเดิมมาตั้งแต่โบราณ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ซึ่งประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร ออกฤทธิ์ระงับอาการไอ มีสารสำคัญคือสารอัลคาลอยด์ codeine และสารสกัดชะเอม ทำหน้าที่เคลือบและป้องกันเยื่อบุทางเดินหายใจจากเสมหะและสิ่งระคายเคือง ใช้บรรเทาอาการไอแห้ง หรือการไอแบบมีเสมหะใสในผู้ใหญ่ที่มีการไอบ่อยครั้ง ก่อนใช้ยาต้องเขย่าขวดก่อนใช้ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือจิบยานี้ทีละน้อยจนหมดตามขนาดการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ยาแก้ไอน้ำดำขนาด 180 มิลลิลิตร จัดเป็นตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งในร้านยาที่มีการจำหน่ายจะต้องมีเภสัชกร (แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง) เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการอยู่

สำหรับสมุนไพรที่ใช้สำหรับอาการไอนั้น สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.สมุนไพรบรรเทาอาการไอ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

  • สมุนไพรเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง เช่น น้ำผึ้ง มะนาว มะขามป้อม
  • สมุนไพรที่กดศูนย์ไอในสมอง เช่น ฝิ่น

2.สมุนไพรขับเสมหะ

  • สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น เหง้าขิง ผลดีปลี ดอกกานพลู ผลพริกไทย ต้นกะเพรา
  • สมุนไพรที่มีกรดอินทรีย์ซึ่งมีรสเปรี้ยว ได้แก่ เนื้อฝักมะขามแก่ น้ำมะนาว ผลมะขามป้อม ผลบ๊วย ผลมะนาวดอง
  • สมุนไพรอื่นๆ ที่แสดงฤทธิ์ในการบรรเทาอาการไอได้ดี และมีกลไกการออกฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ ผลมะแว้งเครือ ผลมะแว้งต้น ใบเสนียด เมล็ดเพกา เป็นต้น

ในสาธารณสุขมูลฐานได้กำหนดรายการสมุนไพรแก้ไอขับเสมหะไว้ดังนี้

1.มะแว้งต้น (Solanum indicum) หรือ มะแว้งเครือ (Solanum trilobatum) มีสารสำคัญได้แก่อัลคาลอยด์ solasodine ใช้ผลแก่ที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นสีแดงของมะแว้งต้นหรือมะแว้งเครือ จำนวน 10-20 ผล กินแก้ไอ ขับเสมหะ เด็กใช้ 2-3 ผล ตำกวาดคอ

2.มะนาว (Citrus aurantifolia) มีสารสำคัญคือ citric acid ใช้น้ำคั้นผลที่มีรสเปรี้ยว 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเกลือเล็กน้อยจิบบ่อยๆ

3.มะขาม (Tamarindus indica) มีสารสำคัญในเนื้อฝักมะขามแก่ได้แก่ tartaric acid บรรเทาอาการไอโดยใช้เนื้อฝักแก่จิ้มเกลือรับประทาน หรือคั้นน้ำผสมเกลือจิบ

4.มะขามป้อม (Phyllanthus emblica) ใช้เนื้อผลแก่ 2-3 ผล โขลกพอแหลก จิ้มเกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยว วันละ 3-4 ครั้ง สารสำคัญในมะขามป้อมได้แก่ วิตามินซี

5.เพกา (Oroxylum indicum) นำเมล็ดเพกา 1/2-1 กำมือ (1.5-3 กรัม) ต้มน้ำเดือด 2 แก้ว (300 มล.) นาน 1 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง

6.ขิง (Zingiber officinale) นำเหง้าขิงแก่มาฝนกับน้ำมะนาว หรือขิงสดตำผสมน้ำและเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ สารสำคัญในเหง้าขิงได้แก่ น้ำมันหอมระเหย เช่น gingerol และ zingerone อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้เหง้าขิงในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin หรือยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากเหง้าขิงอาจมีผลลดน้ำตาลในเลือด

7.ดีปลี (Piper longum) เป็นพืชสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ผลดีปลีแห้ง ?-1 ผล ฝนกับน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ บรรเทาอาการไอได้ สารสำคัญในดีปลีได้แก่ beta-caryophyllene

สำหรับยาบรรเทาอาการไอ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2555 นั้น ได้ระบุตำรับยาสมุนไพรบรรเทาอาการไอไว้ทั้งสิ้น 7 ตำรับ ได้แก่

  1. ยาแก้ไอผสมกานพลู
  2. ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม
  3. ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง
  4. ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน
  5. ยาตรีผลา
  6. ยาประสะมะแว้ง
  7. ยาอำมฤควาที

โดยพืชสมุนไพรในตำรับดังกล่าวนั้น อาจแบ่งได้เป็นพืชสมุนไพรที่มีกรดผลไม้ที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ช่วยบรรเทาอาการไอ เคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง เช่น ผลบ๊วย ผลมะนาวดอง ผลมะขามป้อม พืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ดอกกานพลู เปลือกอบเชย ผิวส้มจีน เหง้าขมิ้นอ้อย ต้นกะเพราแดง ดอกดีปลี เหง้าขิง ผลพริกไทยล่อน ต้นช้าพลู โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลาว และสมุนไพรกลุ่มอื่นๆ เช่น รากชะเอมเทศ รากชะเอมไทย ใบเสนียด ผลมะแว้งต้น ผลมะแว้งเครือ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาตำรับบรรเทาอาการไอที่มีอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2555 นั้น ก็มีข้อควรระวังบางประการ ได้แก่

ในตำรับที่มีมะขามป้อม เช่น ตำรับยาแก้ไอผสมกานพลู ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน ยาตรีผลา และ ยาอำมฤควาที มีข้อควรระวังอาการท้องเสีย

ตำรับที่มีรากชะเอมเทศ เช่น ยาแก้ไอผสมกานพลู ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน และยาอำมฤควาที ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เนื่องจากการบริโภครากชะเอมเทศต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจมีผลทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเพิ่มความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ป่วยที่ใช้ยา prednisolone ยาขับปัสสาวะ หรือยานอนหลับกลุ่ม benzodiazepine ควรระวังการใช้ยาที่มีรากชะเอมเทศประกอบอยู่

บางตำรับ เช่น ยาแก้ไอผสมกานพลู ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน มีส่วนประกอบของน้ำตาล หรือน้ำผึ้ง ดังนั้น จึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำหนัก และบางตำรับ เช่น ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาประสะมะแว้ง ยาอำมฤควาที นั้นมีส่วนผสมของเกลือแกง หรือมีการใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือเป็นน้ำกระสายยา จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณเกลือในร่างกาย

สมุนไพรและตำรับยาสมุนไพรดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ออกฤทธิ์เพียงบรรเทาอาการไอ มิได้มีผลในการรักษาสาเหตุของการไอ ดังนั้น การกำจัดที่สาเหตุของอาการไอ โดยการรักษาโรคหรือพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุ หรือปรับพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการไอ จึงเป็นแนวทางในการรักษาอาการไอที่ดีที่สุด

 

 

source : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล / ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยาและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เล่ม 2. 2536 / สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 กระทรวงสาธารณสุข

logoline