svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

สรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

20 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิด 8 เรื่องจริงต้องรู้ทั้งประโยชน์และโทษของการดื่มชา พร้อมค้นหาคำตอบว่าดื่มชาสมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงิน ชาตะไคร้ใบเตยรักษาโรคเกาต์ ชาใบมะกรูดลดความดันโลหิตสูง จากข้อมูลที่แชร์กันบ่อยๆ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่?

มีการส่งต่อกันเยอะมากกับสูตรชาสมุนไพรที่อ้างสรรพคุณในการรักษาสารพัดโรค จนทำให้หลายคนเชื่อ หลายคนเกิดความเข้าใจผิด หลายคนทำตามจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและมีผลต่อการรักษาโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ซึ่งจริงๆ แล้วข้อมูลที่ถูกต้องของ "การดื่มชา" คืออะไร แล้วสูตรชาสมุนไพรเหล่านี้ใช้รักษาโรคได้หรือไม่ มาดูกัน

สรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

8 เรื่องจริงต้องรู้ทั้งประโยชน์และโทษของการดื่มชา

สำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำชามีมาช้านานกว่า 4,700 ปี นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วง ยังพบว่าชามีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษ และโรคอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสสระ อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องดื่มชาให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารสำคัญในใบชาที่เรียกว่า “แทนนิน” หรือ “ทีโพลีฟีนอล (Tea polyphenols)” สารสำคัญกลุ่มนี้พบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่ละชนิดอาจจะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันไป

โดยสาร “แทนนิน” ในใบชาสดหรือชาเขียวที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญ ได้แก่ สารกลุ่มที่ชื่อว่า คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านโรคภัยได้มากมายหากดื่มเป็นประจำ แต่สารสำคัญจากใบชามักจะสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน ดังนั้น เราลองมาพิจารณาดูว่าวิธีการชงชาหรือเครื่องดื่มชาแบบไหนที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด หรือแบบไหนจะได้ประโยชน์น้อยที่สุด หรือไม่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย หรือในทางตรงกันข้ามมีผลเสียต่อร่างกายก็เป็นไปได้

1 ชาร้อนกับประโยชน์ที่เสียไป สำหรับผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อน สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ คาเทคชินส์ (Catechins) จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาติ ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแต่ยังนิยมชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีนแต้จิ๋วที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอสเพรสโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น และแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง

2 ดื่มชาแบบเย็นได้ประโยชน์มากกว่าไหม ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ต้องผ่านขบวนการต้มหรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายหรือลดน้อยลงไปเช่นกัน

สรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

3 ชากับนม การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆ ไม่ควรปรุงแต่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเย็นใส่นมจะไม่ได้ประโยชน์จากใบชาเลย

4 ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆ จากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน

5 โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญคือ แทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้น จึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

สรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

6 การสะสมของสารในชา ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของ “ฟลูออไรด์” ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล

7 เรื่องของไตกับการดื่มชา ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า “ออกซาเรท oxalate” แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆ และดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต

8 กาเฟอีนในใบชา ใบชามีสารคาเฟอีนในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก

 

สรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

เช็กสรรพคุณ ‘ดื่มชาสมุนไพร’ ใช้รักษาได้สารพัดโรคจริงหรือ?

เรื่องที่ 1 ดื่มชาสมุนไพรสามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ จริงหรือ?

#ไม่จริง

เนื่องจากชาสมุนไพรจัดเป็นอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 280) พ.ศ. 2547 เรื่อง ชาสมุนไพร และอนุญาตให้นำพืชสมุนไพรมาผ่านกรรมวิธีอย่างง่าย เฉพาะการทำแห้งและลดขนาดให้เล็กลงด้วยการตัด สับ หรือบดเท่านั้น เพื่อจุดมุ่งหมายในการบริโภคโดยการต้มหรือชงกับน้ำเท่านั้น ดังนั้น การดื่มชาสมุนไพร จึงไม่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ เพราะ ชา คือ อาหาร ไม่ใช่ ยา ไม่สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคใด ๆ ได้

 

เรื่องที่ 2 ชาตะไคร้ใบเตย สามารถรักษาโรคเกาต์ได้ จริงหรือ?

#ไม่จริง

เพราะโรคเกาต์มีสาเหตุมาจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง ร่วมกับการมีผลึกของกรดยูริกในข้อ หรือเนื้อเยื่อรอบข้อ ทำให้ข้อหรือเนื้อเยื่อรอบข้อนั้นเกิดอาการอักเสบเฉียบพลัน ในขณะที่ตะไคร้มีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดส่วนใบเตยนั้นช่วยแก้กระหายน้ำ จะเห็นได้ว่า ตะไคร้และใบเตย ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกาต์ได้เลย ฉะนั้น หากเป็นโรคเกาต์จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและเหมาะสม ดีกว่าที่จะมาเชื่อข่าวแชร์หลอกลวง

 

เรื่องที่ 3 ดื่มชาใบมะกรูดลดความดันโลหิตสูงได้ จริงหรือ?

#ไม่จริง

เพราะยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดความดันโลหิตของมะกรูดในสัตว์ทดลองหรือในคนโดยตรง (Ref. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร 8/4/2559) ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่ามัวเสียเวลากับสูตรลดความดันโลหิตสูงต่าง ๆ เลย

 

เรื่องที่ 4 ปอดสะอาดง่ายๆ ทำได้ด้วยชาสมุนไพร จริงหรือ?

#ไม่จริง

เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการสะสมคราบน้ำมันดินในปอด ซึ่งการดื่มชาสมุนไพรนั้นไม่สามารถที่จะกำจัดออกได้ ซึ่งการดูแลรักษาปอดที่ดีที่สุดคือ การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหรือควัน แต่หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าเครื่องดื่มชามีทั้งคุณและโทษต่อร่างกายขึ้นอยู่กับการบริโภค ถ้ามากเกินไปจะเป็นโทษได้ การนำสารสกัดชาเขียวไปผสมกับอาหารอื่นๆ หากต้องนำไปทำให้ร้อน เช่น ขนมเค้ก คุณค่าชาเขียวจะหมดไป คงเหลือแต่รสชาติเท่านั้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการนำผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดชาเขียวไปผ่านขบวนการความร้อน เพื่อคงคุณค่าของชาเขียวต่อสุขภาพร่างกาย นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรเพื่อหวังผลในการรักษาโรค เพราะ “ชาสมุนไพร” ยังไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรค เนื่องจากชาจัดเป็น “อาหาร” ไม่ใช่ “ยา” จึงไม่สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคใดๆ ได้ เพราะฉะนั้น อย่าหลงเชื่อข่าวแชร์ และไม่ทำตาม ทางที่ดีหากป่วยมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ควรพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการวินิจฉัยโรคหรือรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

 

แหล่งอ้างอิง :

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

logoline