svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

‘กรดไหลย้อน’ ปล่อยไว้นานเพิ่มโอกาสเสี่ยง ‘มะเร็งหลอดอาหาร’

16 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กินแล้วนอน “กรดไหลย้อน” ถามหา รู้ทันอันตรายของกลุ่มอาการโรคยอดฮิตคนวัยทำงาน หากปล่อยไว้นานยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิด “มะเร็งหลอดอาหาร” ได้จริงหรือ?

แสบร้อนกลางอก เรอแล้วรู้สึกมีของเหลวดันขึ้น หนึ่งในอาการที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพที่เป็นผลมามาจาก “โรคกรดไหลย้อน” ความผิดปกติที่เกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาสู่หลอดอาหาร เพราะการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างหย่อนตัวลง ทำให้มีน้ำย่อยหรือกรดไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร โดยสาเหตุหนึ่งอย่างของการเกิดโรคกรดไหลย้อนมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานของเปรี้ยว เผ็ด ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารแล้วนอนทันที ไม่ได้รอให้อาหารเคลื่อนตัวลงไปยังกระเพาะ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

‘กรดไหลย้อน’ ปล่อยไว้นานเพิ่มโอกาสเสี่ยง ‘มะเร็งหลอดอาหาร’

โรคกรดไหลย้อน ปล่อยไว้นานอาจเป็นมะเร็งได้จริงหรือ?

อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิก วิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า "โรคกรดไหลย้อน จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณหลอดอาหารและบริเวณกล่องเสียง ซึ่งถ้าหากมีการอักเสบเรื้อรังไปนานๆ จะทำให้เซลส์บริเวณเยื่อบุผิวมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลส์มะเร็งได้ แต่ว่ามีโอกาสไม่เยอะมาก แค่ประมาณ 1-6% เท่านั้น"

‘กรดไหลย้อน’ ปล่อยไว้นานเพิ่มโอกาสเสี่ยง ‘มะเร็งหลอดอาหาร’

จริงอยู่ที่ “โรคกรดไหลย้อน” นั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการทานยา แต่หากปล่อยเรื้อรังจนเกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร จากโรคกรดไหลย้อนธรรมดาก็อาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” โรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นลำดับที่ 9 ของมะเร็งในชายไทยช่วงอายุวัยกลางคน 55-65 ปี และมักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า

ดังนั้น มาเช็กสัญญาณอาการกรดไหลย้อน กันว่าคุณมีอาการเข้าข่ายต้องระวังหรือไม่

  • กลืนลำบาก คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
  • เจ็บคอ ในตอนเช้ามักมีเสมหะอยู่ในลำคอ หรืออาจระคายคอตลอดเวลา
  • อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ หรืออาจร้าวไปที่บริเวณคอ
  • เรอบ่อย คลื่นไส้
  • คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอรู้สึกถึงรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในคอ
  • มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ
  • เป็นหวัดเรื้อรัง
  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะในตอนเช้า
  • ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
  •  สำหรับผู้ป่วยหอบหืด อาจมีอาการหอบมากขึ้น และการใช้ยาไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

5 คำแนะนำเมื่อเป็น "กรดไหลย้อน" ต้องทำอย่างไ รหากไม่อยากเป็น "มะเร็งหลอดอาหาร"

1 แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด งดสูบบุหรี่ ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์  หลีกเลี่ยงการเบ่งเมื่อมีอาการท้องผูก แต่เลือกกินอาหารที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายแทน

2 แนะนำให้เปลี่ยนนิสัยในการกินอาหาร โดยงดอาหารที่ระคายเคือง เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด มีความเป็นกรด งดอาหารทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย นม ไข่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และทานแค่พอดี ไม่อิ่มจนแน่นท้องเกินไป

3 แนะนำให้เปลี่ยนนิสัยการนอน หลังการรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนในทันที แต่ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และเวลานอนควรหนุนหัวให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ

4 แนะนำให้ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

5 แนะนำให้บรรเทาอาการด้วย “ยา” ที่ควรรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์ ไม่ลดหรือหยุดยาเอง และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

‘กรดไหลย้อน’ ปล่อยไว้นานเพิ่มโอกาสเสี่ยง ‘มะเร็งหลอดอาหาร’

5 กลุ่มอาหารช่วยบรรเทากรดไหลย้อน

  1. อาหารไขมันต่ำ อย่างเช่น เนื้อปลา, ไก่ไม่ติดหนัง, ไข่ขาว, นมไขมันต่ำ หรือน้ำเต้าหู้
  2. อาหารไฟเบอร์สูง อย่างเช่น ธัญพืช, ข้าวโอ๊ต, ขนมปังโฮลวีท, ผักชนิดต่างๆ เป็นต้น
  3. ผลไม้ สำหรับคนเป็นกรดไหลย้อนนั้น ควรเป็นผลไม้ที่ไม่มีกรดมาก อย่างเช่น กล้วย, แตงโม, แคนตาลูป, แอปเปิ้ล, พีช, ลูกแพร์, อะโวคาโด หรือผลไม้รสหวานชนิดอื่น ๆ
  4. น้ำขิง เป็นประจำ เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถช่วยขับลม ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยลดอาการท้องอืด หรืออาการกรด-แก๊สในกระเพาะเกินได้
  5. อาหารที่มีไขมันดี ร่างกายคนเราต้องการไขมันเป็นพลังงาน ดังนั้นคนเป็นโรคกรดไหลย้อนก็ไม่ควรงดไขมันด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไขมันที่คนเป็นกรดไหลย้อนกินได้ ควรเป็นไขมันชนิดดีจากอะโวคาโด เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันมะกอก น้ำมันงา หรือน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น

 

logoline