svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

จริงหรือไม่? ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า!

09 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปวดคูณสองของจริง สำหรับผู้หญิงที่บางคนต้องปวดประจำเดือน พร้อมกับปวดหัวไมเกรน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร มาไขข้อข้องใจไปพร้อมกัน

เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้ ช่วงที่มีประจำเดือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไมเกรนเป็น 2 เท่า

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงจะพบความชุกของโรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headaches) มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า ในช่วงวัยเด็ก ผู้หญิงกับผู้ชายจะมีความชุกของอาการปวดศีรษะใกล้เคียงกัน แต่หลังจากเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระบบฮอร์โมนของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ผู้หญิงจะมีการผลิตฮอร์โมน เอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนนี้จึงมีระดับคงที่

จริงหรือไม่? ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า!

ทำไมผู้หญิงจึงเป็นไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน

ในช่วงก่อนมีประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ก่อนมีประจำเดือน 1 – 3 วัน ระดับเอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว (estrogen withdrawal) ในผู้ที่สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ (จากพันธุกรรม) หรือผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่แล้วจะเกิดการกระตุ้น ทำให้ปวดศีรษะไมเกรนได้

ในช่วงก่อนหมดประจำเดือน (premenopausal) เป็นอีกช่วงอายุที่สามารถพบอาการปวดศีรษะไมเกรนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศได้มาก ระดับฮอร์โมนไม่คงที่ รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องร้อนวูบวาบในเวลากลางคืน ทำให้การนอนหลับไม่ดี เกิดการกระตุ้นให้ปวดศีรษะไมเกรนได้ง่าย

อาการปวดศีรษะไมเกรนช่วงมีประจำเดือน

อาการปวดศีรษะมักจะเกิดก่อนที่จะมีประจำเดือน 2 วัน จนถึงขณะที่มีประจำเดือนวันที่ 3 อาการปวดศีรษะมักจะเกิดรุนแรงมากกว่าและเป็นนานกว่าไมเกรนปกติ โดยพบอาการอื่นร่วมกับอาการปวดศีรษะ เช่น

  • อาการปวดศีรษะรุนแรงที่มีลักษณะปวดตุ้บๆ เป็นจังหวะที่บริเวณด้านใด ด้านหนึ่งของศีรษะ หรืออาจเกิดขึ้นทั้งสองข้าง และมักปวดข้างเดิมๆ ซ้ำๆ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • มีความไวต่อ แสง – เสียง – กลิ่น เพิ่มมากขึ้น
  • การเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนท่าทางจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น
  • ในผู้ป่วยบางรายตอบสนองไม่ดีต่อยารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน หรือมีการปวดศีรษะกลับเป็นซ้ำใหม่ได้มากกว่าปกติ

จริงหรือไม่? ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า!

สิ่งที่ต้องระวัง คือ "ยาคุมกำเนิด" หรือ "ยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน" ที่จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraine with aura) เนื่องจากยาคุมกำเนิดสามารถเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดสมองตีบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดดำอุดตันอีกด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยไมเกรนชนิดมีอาการเตือนหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางโรคหลอดเลือดควรต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมและวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงจากแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิด

จริงหรือไม่? ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า!

ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดไมเกรน

ปัจจัยภายในตัวของผู้ป่วยเอง (Intrinsic precipitating factors) ได้แก่

  • พันธุกรรม พบว่า มีรายงานพบความสัมพันธ์มากถึง 50%
  • เพศหญิงมีการปวดศีรษะไมเกรนมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ในช่วงก่อน/ระหว่าง/หรือหลังมีประจำเดือน โดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์
  • ความเครียด ซึ่งปัจจุบันพบว่า ค่อนข้างมีความเกี่ยวข้องอย่างมากในวัยที่กำลังทำงาน
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งพบในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
  • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โคเอ็นไซม์คิวเท็น แมกนีเซียม วิตามินบี 2
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งมักจะเกิดในผู้ที่ชอบนอนดึก หรือนอนไม่เป็นเวลา

ปัจจัยภายนอก (Extrinsic precipitating factors) ได้แก่

  • อาหารบางชนิด เช่น ช็อคโกแลต ชีส ผงชูรส ของหมักดอง แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • สภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด ความกดอากาศสูง กลิ่นเหม็น แสงแดด เสียงที่ดังจนเกินไป แสงจากคอมพิวเตอร์
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาที่ส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ
  • การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
  • โรคกล้ามเนื้อตึงตัว และออฟฟิศซินโดรม เป็นอีกปัจจัยที่สามารถร่วมกระตุ้นได้

จริงหรือไม่? ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า!

ปวดหัวแบบไหนที่ควรพบแพทย์

  • อาการไมเกรนมักเกิดขึ้นนานตั้งแต่ 4- 72 ชั่วโมง  และเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล  แต่หากพบว่าอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือมีอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์โดยทันที
  • ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรงเหมือนสายฟ้าฟาด
  • ปวดศีรษะ มีไข้ และสับสน ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลแล้วไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดเรื้อรัง หรือแย่ลงหลังจากการไอ การออกแรง หรือมีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชาตามร่างกาย
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตามัว ภาพดับ

การรักษาไมเกรน

การรักษาไมเกรนแบ่งออกเป็นการรักษาแบบฉับพลัน และการป้องกัน

การรักษาแบบฉับพลัน

  • ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ Steroid หรือที่เรียกว่า NSAIDS, กลุ่มทริปแทน (Tryptan) หรือ เออโกตามีน(ergotamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินไป และอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้
  • ยาต้านอาการคลื่นไส้ ช่วยได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย

แนวทางการป้องกัน

  • การใช้ยาป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน ซึ่งได้แก่กลุ่ม ยาควบคุมความดันโลหิต  ยากันชักบางชนิด  ยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งแพทย์เป็นผู้พิจารณาจากผลตรวจร่างกายของผู้ป่วย
  • การฉีดโบท็อกซ์  แพทย์มักใช้รักษาในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไป ร่วมกับการรับประทานยา การฉีดโบท็อกซ์ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และยับยั้งปลายประสาท ที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง เพื่อลดอาการปวดศีรษะรุนแรงได้เป็นอย่างดี  และมีผลข้างเคียงน้อยมาก
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation-TMS) ได้รับการรับรองขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา  เป็นการรักษาที่ไม่ต้องดมยาสลบและไม่เจ็บปวด สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 30 - 60 นาที สามารถทำต่อเนื่องติดต่อกันได้
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • การทำสมาธิ

แม้ไมเกรนจะเป็นภาวะการปวดศีรษะเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงภาวะที่เป็นตัวกระตุ้น การปวดศีรษะดังที่กล่าวมา รวมถึงการป้องกัน เช่น  นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามลดความเครียด

เมื่อเริ่มมีอาการของไมเกรนควรอยู่ในห้องที่เงียบและมืด หลับตาและพักผ่อนหรือนอนหลับ  ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

ทั้งนี้ หากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง  รวมถึงมีอาการอื่นๆ   เช่น คลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน  พูดลำบาก ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก  ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

logoline