svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รู้จัก’มะเร็งต่อมลูกหมาก’ มะเร็งร้ายอันดับ 4 ของชายไทย

26 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“มะเร็งต่อมลูกหมาก” ตรวจพบเร็วมีโอกาสหาย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ เชื่อหรือไม่? ไทยพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่วันละ 10 ราย หรือ 3,755 รายต่อปี และเสียชีวิตวันละ 5 ราย หรือ 1,654 รายต่อปี

นับเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวที่ผู้ชายทุกคนไม่ควรมองข้าม สำหรับ “โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ มาดูข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือน การตรวจวินิจฉัย แนวทางการรักษา ตลอดจนวิธีการป้องกัน

ทำความรู้จัก "โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก" มะเร็งร้ายอันดับ 4 ของชายไทย

“มะเร็งต่อมลูกหมาก” คือเซลล์เนื้องอกผิดปกติที่เกิดในต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นหูรูดควบคุมการปัสสาวะ และสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิในเพศชาย มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปี และมีแนวโน้มพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อายุและพันธุกรรม

สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถูกพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่วันละ 10 ราย หรือ 3,755 รายต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก วันละ 5 ราย หรือ 1,654 รายต่อปี 

รู้จัก’มะเร็งต่อมลูกหมาก’ มะเร็งร้ายอันดับ 4 ของชายไทย

สัญญาณและการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในระยะแรกๆ ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะไม่มีอาการแสดงใดๆ โดยผู้ป่วยมักเข้ารับการรักษา เมื่อพบก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก จำเป็นต้องเบ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง ทางด้านความรุนแรงของตัวโรค อาจมีการลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง กดเบียดอวัยวะข้างเคียง กดเบียดท่อปัสสาวะเป็นเหตุให้ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก มีการลุกลามไปที่กระดูก ปวดกระดูกรุนแรง มีการหักของกระดูกสันหลัง เกิดเส้นประสาทกดทับจนเดินไม่ได้ และมีการลุกลามไปอวัยวะภายในอื่นๆ ได้

สำหรับการตรวจวินิจฉัยต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (TRUS Biopsy) ตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจการลุกลามกระดูกด้วยสารนิวเคลียร์ เพื่อใช้วางแผนในการรักษา โดยแนะนำผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Specific Antigen; PSA) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

หากตรวจพบในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก โดยการรักษาในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic Surgery) หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted Surgery) ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวมากขึ้น และเสียเลือดน้อยลง ในบางครั้ง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัด หรือไม่อยากผ่าตัด อาจเลือกใช้วิธีการฉายแสง (Radiotherapy) ซึ่งในระยะต้นๆ อาจทำให้หายขาดได้เช่นกัน

ส่วนรายที่มีอาการลุกลามไปที่กระดูกแล้ว สามารถลดความเจ็บปวดได้อีกด้วยการรักษาโดยการลดฮอร์โมนเพศชาย เนื่องจากมะเร็งมีการกระตุ้นและโตขึ้นจากฮอร์โมน Testosterone การฉีดยาลดฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ หรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการให้ยาทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น หรือมีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ผลข้างเคียงในการรักษาจะมีมากกว่าวิธีการอื่นๆ

รู้จัก’มะเร็งต่อมลูกหมาก’ มะเร็งร้ายอันดับ 4 ของชายไทย

"โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก" ป้องกันได้

จากการศึกษาพบว่า หากรับประทาน Lycopene ซึ่งเป็นสารที่พบในมะเขือเทศ ปริมาณอย่างน้อย 10–30 มิลลิกรัม/วัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่ที่สำคัญคือการดูแลรักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยวิธีการดังนี้

1.หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศสูงขึ้น

สารอาหารที่ได้รับในทุกๆ วัน ส่งผลอย่างมากต่อร่างกายในระยะยาว ฉะนั้น อาหารที่เข้าไปสะสมในร่างกายแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง หรือบริโภคให้น้อยลง อาทิ อาหารไขมันสูง เนื้อแดง เป็นต้น เพราะไขมัน ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศสูงขึ้น เป็นตัวเร่งให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้รวดเร็ว

2.เลือกกินนอาหารที่มีคุณประโยชน์ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ชายที่กินผักน้อยกว่า 14 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงมากกว่าชายที่กินผักสัปดาห์ละ 28 หน่วยบริโภคถึง 50% โดยอาหารที่ส่งผลดีต่อการป้องกัน โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีดังนี้

  • ผัก ผลไม้สีแดง ส้ม เหลือง ที่มีสาร Lycopene ได้แก่ มะเขือเทศ (ปรุงสุก) แครอท แตงโม
  • พืชตระกูลกะหล่ำ ที่มีสาร Sunforaphane ได้แก่ บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี เป็นต้น ปลาทะเล และปลาน้ำจืดบางชนิด ที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลาสลิด ปลานิล ปลาโอ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ฯลฯ
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ซึ่งมีสาร Flavonoids และ Isoflavone 
  • ธัญพืชต่างๆ อาทิ ข้าวไม่ขัดสี จมูกข้าวสาลี เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วต่างๆ เป็นต้น

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ความอ้วนเกินเกณฑ์มีผลต่อระดับฮอร์โมนซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในรายที่อ้วนลงพุงจะส่งผลให้ระดับอินซูลินเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักจึงเป็นสิ่งที่ควรดูแลอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ควรงดอาหารที่มีรสหวานและเค็มจัดด้วย

งานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายแบบหนัก 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการดูแลอาหารการกิน ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากถึง 61%

4.งดบุหรี่และแอลกอฮอล์

การดูดบุหรี่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากถึง 2 เท่า ในผู้ที่สูบบุหรี่จัด มักมีปัญหาแทรกซ้อนจากการรักษา และมีความเสี่ยงการเสียชีวิตจากมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบ และการเลิกบุหรี่จะทำให้ลดการเกิดมะเร็งได้ 30% รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์หนักก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นเช่นกัน

5.การหลั่งน้ำอสุจิ

ทางการแพทย์ของออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตในโรคมะเร็งต่อมลูกหมากว่า การที่โรคนี้พบมากในผู้ชายสูงอายุ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ วัยหนุ่มมักจะมีการหลั่งบ่อยอยู่เสมอ ขณะที่ผู้ชายสูงอายุที่ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอาจมีการหลั่งบ่อย ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยลงกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ทำการหลั่ง ฉะนั้น ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มผู้ชายสูงอายุนั่นคือ ปัญหาการแข็งตัว ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางแก้ไขต่อไป

ด้วยเหตุนี้ทางการแพทย์ของออสเตรเลียจึงมีการแนะนำว่า หากเริ่มเข้าสู่วัยที่อายุมากขึ้น ก็ควรหลั่งน้ำอสุจิบ่อยๆ เฉลี่ย 5 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ถึง 34%

 6.ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การดูแลรักษาสุขภาพถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในทุกเพศทุกวัย รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์อย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะหากเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะได้ตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้  

วิธีเหล่านี้ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้แล้ว ยังช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่งผลต่อการป้องกันโรคอื่นๆ ไปด้วย เพียงแค่ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็กน้อยเท่านั้น

 

logoline