svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ความสำคัญของ ‘ป่าชายหาด’ กับบทบาทรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง

05 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หนีร้อนไปเที่ยวเกาะ อย่าลืมช่วยกันดูแล “ป่าชายหาด” ระบบนิเวศริมทะเลกับทางเลือกธรรมชาติในการรักษาหาดทราย

อากาศร้อนในบ้านเรา ทำให้บรรยากาศริมทะเลครึกครื้นและคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว นอกจากความกังวลใจในเรื่องของการปล่อยของเสีย การทิ้งขยะบนชายหาด หรือทิ้งลงสู่มหาสมุทรแล้ว เรื่องของ “ป่าชายหาด” ระบบนิเวศริมทะเลกับทางเลือกธรรมชาติในการรักษาหาดทราย ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ความสำคัญของ ‘ป่าชายหาด’ กับบทบาทรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง

หลายต่อหลายครั้งผู้คนมักจะละเลยป่าชายหาดไป เพราะมองว่าเป็นป่าที่มีต้นไม้เพียงน้อยนิดที่อาจไม่ได้มีความสำคัญอันจะอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ดี ป่าชายหาดนั้นก็มีความสำคัญอย่างมาก หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ป่าชายหาดอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติที่จะมาแก้ไขปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะด้วย วันนี้เราจึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักป่าชายหาดให้มากขึ้นกัน 

Beach Forest ป่าชายหาด สำคัญอย่างไร

ความสำคัญของ ‘ป่าชายหาด’ กับบทบาทรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง

ป่าชายหาด เป็นลักษณะของป่าประเภทหนึ่ง จัดเป็นป่าละเมาะหรือป่าโปร่งไม่ผลัดใบ มักจะพบตามแนวชายฝั่งทะเลหรือเนินทรายริมทะเลที่ยกตัวสูงขึ้น ซึ่งพื้นที่ป่าอาจเป็นเพียงแนวแคบๆ หรือกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ  โดยดินที่ในบริเวณป่าชายหาดจะเป็นดินทรายที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง หรือบริเวณที่หินชิดฝั่งทะเล ด้วยป่าชายหาดนั้นติดริมทะเล ทำให้ดินในบริเวณดังกล่าวค่อนข้างเค็มและมีไอเค็ม (salt spray) จากทะเลพัดเข้ามาตลอด 

ในประเทศไทยเราสามารถพบป่าชายหาดได้ทั้งชายฝั่งภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ลงไปถึงจังหวัดตราด และทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยจากจังหวัดเพชรบุรี ลงไปจนต่อเขตแดนประเทศมาเลเซีย รวมถึงเกาะต่างๆ ในอ่าวไทยด้วย ในทางฝั่งตะวันตก มีพบตั้งแต่จังหวัดระนอง ลงไปจนถึงจังหวัดสตูล

ลักษณะโครงสร้างของป่าชายหาดแปรผันไปตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละท้องที่ พืชส่วนใหญ่ของป่าชนิดนี้เป็นพืชทนเค็ม (halophytes) และทนความแห้งแล้ง (xerophytes) ทั้งนี้จะเป็นพืชที่เติบโตได้ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินต่ำ ทำให้พืชเหล่านี้มีการปรับตัวจนมีลักษณะเป็นพุ่มลำต้นคดงอและแตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้น ใบหนาแข็ง ประกอบด้วยไม้ใหญ่น้อยส่วนมากเป็นไม้หนามขนาดไม้พุ่มและเถาวัลย์ เพื่อช่วยลดการคายน้ำ ซึ่งพืชที่ปรากฏในพื้นที่ป่าชายหาดนั้นมีทั้งที่เป็นระบบนิเวศแบบหลากหลายพันธุ์ไม้ ในบางพื้นที่อาจพบเพียงแค่สนทะเล (Casuarina equisetifolia) เป็นพืชที่มักก่อตัวในหาดทรายที่เกิดใหม่ โดยทั่วไปแล้วป่าสนทะเลก็จะมีเพียงแค่สนทะเลขึ้นเพียงชนิดเดียว นอกจากสนทะเลแล้วป่าชายหาดยังมีพรรณพืชอีกมากมาย อาทิ รังกะแท้ ตะบูน หูกวาง โพธิ์ทะเล ผักบุ้งทะเล ฯลฯ  

บทบาทในการรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง 

ความสำคัญของ ‘ป่าชายหาด’ กับบทบาทรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง

ป่าชายหาดนั้นมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมาก ป่าเหล่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการเจริญเติบโตของพันธุ์พืชริมชายหาด และเป็นตัวคอยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งกับระบบนิเวศบนบกด้วย 

อีกหนึ่งประโยชน์ของป่าชายหาดทีหลายคนอาจจะยังไม่รู้มาก่อน คือ มันสามารถทำหน้าที่เป็นกำแพงกันคลื่นธรรมชาติให้แก่ชายหาดได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติด้วยการสร้างกำแพงคอนกรีตด้วยซ้ำ เพราะป่าชายหาดสามารถหน้าที่ในการรักษาและป้องกันการสูญเสียชายหาดจากการกัดเซาะของคลื่นได้ กล่าวคือ เมื่อคลื่น ลม และกระแสน้ำพัดเข้ามาที่ชายฝั่ง จะทำให้ทรายเข้ามาสะสมที่ชายฝั่ง และพัดออกสู่ทะเลไป ป่าชายหาดจะมีบทบาทในฐานะตัวป้องกันไม่ให้ทรายถูกพัดลงทะเลไป เมื่อทรายถูกลมพัดเข้ามาส่วนลึกของชายหาด จนเข้าถึงพื้นที่ป่าชายหาด ด้วยโครงสร้างรากของพืชในป่าบางชนิดที่มีความกว้างและซับซ้อน ก็จะคลุมหน้าดินและยึดทรายที่ถูกพัดเข้ามาให้ไม่ไปไหน จึงเป็นการลดการสูญเสียหาดทรายได้เป็นอย่างดี หรือกล่าวให้เห็นภาพคือ ป่าชายหาดทำหน้าที่คล้ายกับป่าชายเลนนั่นเอง 

นอกจากนี้ กำแพงกันคลื่นธรรมชาติแล้วยังเป็นกันแพงกันลมธรรมชาติด้วย โดยป่าชายหาดสามารถกันลมทะเลไม่ให้พัดเข้ามาสู่ส่วนลึกของชายฝั่งได้ด้วย เนื่องจากลมไอเค็มที่พัดเขามาจากทะเลจะปะทะกับชั้นเรือนยอดไม้ของต้นไม้ในพื้นที่ป่า ส่งผลให้ไอเค็มผ่านเข้ามาสู่ตัวพื้นที่ด้านในได้น้อยลง ซึ่งถ้าหากพื้นที่ส่วนในเป็นพื้นที่ป่าก็จะช่วยให้ไอเค็มไม่กัดเซาะพืช พืชพรรณในพื้นที่ด้านในก็จะพัฒนาต่อไปเป็นป่าบกได้ต่อไป 

ถึงแม้ว่าความสำคัญและประโยชน์ของป่าชายหาดจะมีมากมายขนาดนี้ ทว่า กลับได้รับความสนใจและการอนุรักษ์ค่อนข้างน้อย อาจเพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก “ป่าชายหาด” ดีพอ ประกอบกับป่าชายหาดไม่ได้มีบทบาทและความสำคัญทางเศรษฐกิจมากพอที่จะทำให้คนสนใจได้ จึงทำให้ป่าชายหาดถูกมองข้ามไป หลังจากนี้เราก็อาจจะต้องปรับความคิดและมุมมองต่อธรรมชาติกันใหม่ว่าป่าทุกชนิดล้วนมีคุณค่าและหน้าที่ทางธรรมชาติในตัวของมันเองทั้งสิ้น 

 

 

 

sourceมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

logoline