svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

How to ทิ้ง : ลด Food Waste อาหารขยะตัวการทำโลกร้อน

04 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้หรือไม่ Food Waste หรือขยะอาหารที่ถูกนำไปฝังกลบจะค่อยๆ แตกตัวก่อเป็นก๊าซมีเทน สร้างก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 86 เท่าตัว

เมื่อ 1 ใน 3 ของอาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน ถูกทิ้งทั้งที่ยังกินได้ และในขณะที่เราทิ้งอาหารที่ยังกินได้ มีประชากรทั่วโลกกว่า 87,000,000 คน ต้องเผชิญความหิวโหย

ข้อมูลจาก Food Wastage Footprint : Impacts on Natural Resources โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นบนโลกที่เราอาศัยอยู่

How to ทิ้ง : ลด Food Waste อาหารขยะตัวการทำโลกร้อน

Food Waste เกิดขึ้นตอนไหน?

ขยะอาหารเกิดขึ้นแทบจะในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ขนส่งและจัดจำหน่าย ตั้งแต่ผลผลิตบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ในไร่เพาะปลูก อาหารที่เน่าเสียระหว่างการขนส่ง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้ขายไม่เลือกนำไปจัดวางเพื่อจำหน่าย เพราะเป็นสินค้ามีตำหนิหรือมีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้มาตรฐานตามที่ตั้งไว้ เศษวัตถุดิบที่ถูกคัดออกระหว่างการปรุงอาหาร เศษอาหารที่ถูกทิ้งเหลือไว้บนจาน และอาหารหมดอายุหรือเน่าเสียในตู้เย็น ซึ่งมีที่มาจากการกักตุนอาหารมากเกินความจำเป็น

How to ทิ้ง : ลด Food Waste อาหารขยะตัวการทำโลกร้อน

เมื่อการลดปริมาณ “ขยะอาหาร” เป็นเป้าหมายระดับโลก

ปัจจุบันการลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่ง UN ได้ตั้งเป้าให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50%

ขณะที่ประเทศฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร

ด้าน สหรัฐอเมริกา เน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะอาหาร มากกว่าการลงโทษ

ในขณะที่ ประเทศเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี

จากเป้าหมาย…สู่กรอบแนวคิดในการลดขยะอาหาร 5 ขั้นตอน

1 ป้องกัน (prevention) ป้องกันการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินโดยวางแผนการกินให้ดี

2 จัดสรรอาหารเพื่อประโยชน์สูงสุด (optimization) ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปบริจาคแก่ผู้ยากไร้ และผลิตเป็นอาหารสัตว์

3 ผลิตเพื่อใช้ใหม่ (recycle) นำขยะอาหารมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานและนำมา ผลิต ปุ๋ย และน้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้ประโยชน์

4 กำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่ (recovery) นำขยะอาหารมาเผาเพื่อผลิตพลังงาน

5 กำจัด (disposal) นำขยะอาหารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ ไปฝังกลบ และเผาเพื่อกำจัด

How to ทิ้ง : ลด Food Waste อาหารขยะตัวการทำโลกร้อน

How to ทิ้ง : ลด Food Waste อาหารขยะตัวการทำโลกร้อน ด้วยวิธีง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

ซื้อของอย่างมีสติ

เคยคิดไหมว่าสถานการณ์บางอย่างอาจเปลี่ยนวิธีคิดรวมถึงแนวทางปฏิบัตของมนุษย์ อย่างเช่นสถานการณ์โควิด สงคราม วิกฤตภัยแล้ง น้ำท่วม ที่ทำให้เราต้องกักตุนอาหารมากกว่าปกติ แทนการออกไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแค่สัปดาห์ละครั้ง แล้วก็ซื้อทุกอย่างเต็มรถเข็น แต่หากคิดดีๆ แล้วการซื้ออาหารครั้งละมากๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เราก่อ Food Waste มากขึ้นตามมาด้วย

แต่ก็ยังมีวิธีอื่นที่ควรทำ เช่น ตั้งกฎว่าต้องใช้วัตถุดิบที่ซื้อมาคราวก่อนให้หมดเกลี้ยงก่อนที่จะออกไปซื้อของครั้งใหม่ และอย่าลืมจดรายการสินค้าที่ต้องการสำหรับหนึ่งสัปดาห์ไว้ก่อนจะออกไปซื้อ ที่สำคัญ อย่าซื้อมากกว่าที่ได้ลิสต์ไว้แล้ว ไม่ว่าสินค้าที่ไปเจอนั้นจะลดกระหน่ำแค่ไหนก็ตาม เพราะนั่นอาจจบลงที่ถังขยะโดยที่ไม่ได้ใช้มันเลยแม้แต่นิดเดียว

เก็บอาหารให้ถูกวิธี

หลังจากซื้อของเข้าบ้านมาแล้ว อย่าโยนทุกสิ่งอย่างเข้าตู้เย็น โดยเฉพาะผักผลไม้ เพราะมีผักผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย อโวคาโด มะเขือเทศ แคนตาลูป ฯลฯ ที่จะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมาระหว่างที่เริ่มสุก โดยก๊าซเอทิลีนที่ว่าจะทำปฏิกริยาทางเคมีทำให้ผักผลไม้อีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ มันฝรั่ง แอปเปิล เบอร์รี่ พริกไทยสด ฯลฯ เน่าเสียได้ง่าย ดังนั้น ควรแยกเก็บผักผลไม้ทั้งสองประเภทนี้ออกจากกันจะช่วยยืดอายุพวกมันได้ดียิ่งขึ้น

จัดระเบียบข้าวของในตู้เย็น

การตุนอาหารไว้ในตู้เย็นมากๆ มักทำให้เราหลงลืม จนของที่ถูกลืมเพราะอยู่ด้านในสุดของตู้เย็นก็เน่าเสียไปแล้วเรียบร้อย จึงเราแนะนำให้จัดระเบียบตู้เย็นสม่ำเสมอ เพื่อจะได้เห็นว่าอาหารต่างๆ ที่ซื้อมามีอะไรบ้าง แล้วมันอยู่ตรงไหนกันบ้าง นอกจากนั้น เวลาซื้อของใหม่มาโดยที่ของเดิมยังไม่หมด ควรเอาของใหม่เข้าไปไว้ด้านใน เพื่อที่ตอนหยิบใช้จะได้กำจัดอาหารที่ใกล้หมดอายุออกไปก่อนนั่นเอง

ใช้กล่องเก็บอาหารแบบใสให้เห็นกันจะจะ

เมื่อมีอาหารเหลือจากการรับประทานในแต่ละมื้อ เราแนะนำให้เก็บใส่ภาชนะที่เป็นแก้วหรือกล่องแบบใส เพื่อที่เวลาเปิดตู้เย็น จะได้มองเห็นได้ง่ายว่ายังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง แล้วก่อนจะลงมือเข้าครัวทำอาหารมื้อต่อไป ก็ควรจัดการอาหารที่เหลืออยู่ให้หมดก่อน ประหยัดทั้งเงินในกระเป๋าและช่วยลด Food Waste ได้ด้วย

ทำรู้จัก Best Before และ Expiration Dateให้มากขึ้น

Best Before หรือควรบริโภคก่อน… หมายความว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ จะมีรสชาติและคุณภาพตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หากบริโภคก่อนวันที่ระบุไว้ แต่เมื่อผ่านวันนั้นไปแล้ว ก็ยังสามารถบริโภคได้ เพียงแต่คุณภาพอาจลดลงเท่านั้นเอง

ส่วน Expiration Date หรือ Expired หรือวันหมดอายุ คือวันที่ผู้ผลิตคำนวณไว้ว่าสินค้าชนิดนั้นๆ จะมีส่วนผสมบางอย่างหมดอายุและไม่ควรบริโภคอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่อาหารชนิดต่างๆ จะหมดอายุลงจริงๆ นั้นขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาของเราด้วย เช่น ขนมปังบางยี่ห้อจะให้ข้อมูลไว้ชัดเจนว่า หากเก็บรักษาในช่องแช่แข็งจะสามารถเก็บขนมปังไว้ได้นานกว่าวันหมดอายุอีกเป็นเดือนๆ แต่แน่นอนว่ารสชาติอาจไม่อร่อยเท่าการรับประทานแบบสดใหม่

อย่าเป็น Perfectionist

ผู้บริโภคส่วนมากมักเลือกซื้อผักผลไม้ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยเพอร์เฟกต์ ทำให้ร้านค้าหลายแห่งปฏิเสธผักผลไม้ที่มีตำหนิ และทำให้มันไม่มีโอกาสขึ้นมาอวดโฉมบนชั้นเพื่อวางจำหน่าย แต่ต้องกลายเป็น Food Waste เพียงเพราะไม่สวยเลิศเลอเท่านั้นเอง  ดังนั้น คราวหน้าที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ลองเลือกผักผลไม้ที่ไม่เพอร์เฟกต์ดูบ้าง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ขายรู้ว่าเราไม่รังเกียจของมีตำหนิ ซึ่งเราอาจซื้อได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย

นำเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ย

เทรนด์ของการนำเอาเศษอาหารจำพวกผักผลไม้ไปหมักเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์นั้นกำลังมาแรง แล้วเราก็ไม่อยากให้พลาดเทรนด์ดีๆ นี้ไป ข่าวดีก็คือ เราไม่จำเป็นต้องมีสวนหรือพื้นที่เอาท์ดอร์ขนาดใหญ่ก็สามารถหมักปุ๋ยที่ว่าได้ เพราะปัจจุบันมีถังหมักอินทรีย์ (compost bin) ที่ตอบสนองความต้องการและเงื่อนไขหลากหลายของผู้ใช้งาน อย่างถังหมักที่สามารถใช้ในคอนโด เป็นต้น ประโยชน์ของการนำเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ยมีทั้งช่วยลดขยะจากอาหาร ได้ปุ๋ยคุณภาพไร้สารเคมีไปใส่ต้นไม้ และประหยัดเงิน

ของมีค่า อย่าง "กากกาแฟ" อย่ารีบทิ้ง

เชื่อว่าหลายบ้านผันตัวมาเป็นบาริสต้าดริปเองดื่มเอง ซึ่งขยะชนิดหนึ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาในแต่ละครัวเรือนจึงหนีไม่พ้น "กากกาแฟ"  หรือเศษของเมล็ดกาแฟที่เหลือจากการบด คั่ว และชง ซึ่งประโยชน์ของกากกาแฟนั้นมีมากมาย เช่น ช่วยดับกลิ่นในตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า รถยนต์ หรือแม้แต่ในรองเท้าอับชื้น สำหรับคนรักสวยรักงาม ยังสามารถนำกากกาแฟมาผสมกับน้ำผึ้งและมะขามเปียก ใช้ขัดผิวเพื่อกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วออกไปได้ด้วย สุดท้าย ถ้านำกากกาแฟไปผสมปุ๋ยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มแร่ธาตุโพแทสเซียม ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสให้กับต้นไม้ แถมยังช่วยไล่แมลงบางชนิดและหอยทากให้ห่างไกลจากต้นไม้ได้อีกด้วย

เห็นหรือยังว่าวิธีลด Food Waste ไม่ได้เป็นเรื่องยาก เราจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองทำตามวิธีข้างต้น เพื่อที่จะช่วยโลก ช่วยเซฟเงินในกระเป๋า และทำให้อาหารทุกชนิดที่ผลิตขึ้นมาได้ถูกบริโภคอย่างคุ้มค่า เพราะเราเชื่อว่าอนาคตที่ดีกว่ายังมี ถ้ารู้วิธีช่วยกัน

logoline