svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

27 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ่า 4 แนวคิด Green Logistics กับ 3 แนวทางการพัฒนาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฝุ่นละออง PM 2.5 ขยะพลาสติกล้นโลก และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือ "ภาวะโลกร้อน” นั่นเอง

ภาวะโลกร้อน เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมามีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ส่วนมากถูกผลิตออกมาโดยภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และยานพาหนะ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่กำลังตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม จึงชวนมาทำความเข้าใจแนวคิด Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Green Logistics เป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด เพื่อการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ กระจายสินค้า และการใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ Green ยังช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ประเทศไทยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

จากข้อมูลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 (2573) โดยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า, การจัดการขยะ, การปลูกป่า, การลดหมอกควันให้เหลือ ร้อยละ 0 ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดลงไปได้แล้วจากภาคพลังงานได้แล้วหลายล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลไทยมีความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ถูกจัดไว้ในนโยบายขับเคลื่อนที่สำคัญ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญ มีกิจกรรมสนับสนุนมากมาย เช่น กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า BCG ผ่านช่องทางออนไลน์ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศ/ต่างประเทศ ดังนั้น หากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยปรับตัวเข้าสู่ Green Logistics มากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านช่องทางต่างๆ ของกรม อีกทั้งยังเป็นการช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

 

Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ข้อดีของการบริหารจัดการด้วยแนวคิด Green Logistics

1) ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลง เช่น การใช้รถพลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายต่อปีดลดลงประมาณ ร้อยละ 69.87 เนื่องจากค่าซ่อมบำรุง และต้นทุนพลังงานถูกลง (ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน)

2) จ่ายภาษีถูกลง เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการ และนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น กรมการขนส่งทางบกมีการลดภาษีป้ายรายปีให้ครึ่งหนึ่ง สำหรับรถบรรทุกที่ใช้พลังงานทดแทน

3) เป็นจุดเด่นและช่วยขยายโอกาสทางการค้า เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น หากบริษัทไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะถูกกีดกันทางการค้าได้

นวัตกรรมขนส่งสีเขียว

Green Transportation หมายถึง นวัตกรรมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด เช่น ระบบไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสีย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลอยขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ

ปัจจุบันในประเทศไทยนั้นมีตัวอย่าง Green Transportation ให้เห็นค่อนข้างมาก เช่น

  • รถเมล์พลังงานไฟฟ้าโดย ขสมก.
  • ไปรษณีย์ไทย จับมือ ปตท. นำร่องใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อส่งพัสดุ
  • Swap & Go บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโดย ปตท.
  • การใช้รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุ Delivery Service
  • การใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล หรือก๊าซธรรมชาติในรถบรรทุก
  • การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น กล่องพัสดุ พลาสติกกันกระแทก ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก

จะเห็นได้ว่า บริการขนส่งในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการใช้ยานพาหนะ EV มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ไฟฟ้านับเป็นพลังงานที่มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับน้ำมัน จึงสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้อีกด้วย

Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Green Transportation ไม่ได้มีแค่การขนส่งเท่านั้น

สำหรับ Green Transportation เป็นส่วนหนึ่งของ Green Logistics ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารส่วนอื่น ๆ ในระบบโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน โดย  Green Logistics หมายถึง การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในแต่ละภาคส่วนให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ลดขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารธุรกิจ

4 แนวคิด Green Logistics เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

1. Eco-Drive สร้างจิตสำนึกให้พนักงานขับขี่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปในการขนส่ง แต่ก็ยังคงสามารถลดมลพิษทางอากาศได้ด้วยการ สร้างจิตสำนึกให้กับพนักงานขับขี่

โดยเน้นไปที่จิตสำนึกในการขับขี่บนท้องถนน ไม่ใช้ความเร็วเกินควรเพื่อลดการใช้น้ำมันสิ้นเปลือง รวมไปถึงการอบรมให้สามารถดูแลรักษาเครื่องยนต์เบื้องต้น เพื่อให้สภาพของตัวรถสมบูรณ์ที่สุด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รบกวนสิ่งแวดล้อม

2. Backhaul & Full Truck Load ลดการขนส่งเที่ยวเปล่า บรรทุกสินค้าให้เต็ม

บริหารรอบการบรรทุกสินค้า ลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและบรรทุกสินค้าให้เต็มเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้น้ำมันอย่างสูญเปล่า อย่างไรก็ตาม น้ำหนักของตัวรถจะต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะการบรรทุกน้ำหนักที่มากเกินไปก็ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานหนัก และปล่อยไอเสียออกมามากกว่าปกติได้

3. Eco-Packaging บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดเก็บ และเคลื่อนย้ายสินค้าในภาคโลจิสติกส์ส่วนมากยังคงใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แต่กลับมีความทนทานที่ค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นจึงควรเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่แข็งแรง สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ แต่พยายามหลีกเลี่ยงวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ยาก

4. Modal Shift ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง

ข้อมูลจาก ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือ V-SERVE GROUP และเป็นประธานคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ชุดที่ 20 ได้ระบุไว้ว่า การขนส่งในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเกือบร้อยละ 88% ล้วนเป็นการขนส่งทางท้องถนน ซึ่งใช้น้ำมันมากกว่าการขนส่งทางรถไฟถึง 3.5 เท่า และสูงกว่าการขนส่งทางน้ำถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

Green Logistics นวัตกรรมสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนวทางการพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจก ควรได้รับการสนับสนุนจาก 3 ฝ่าย ดังนี้

ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนภาคธุรกิจในการทำรายงานการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้การสนับสนุนทางการเงินและภาษีสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งกระตุ้นภาคเอกชนให้เกิดความสนใจและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชน (ผู้บริโภค) ให้ได้รับรู้ในเรื่องนี้ถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค

ภาคเอกชน ควรวางนโยบายในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น กรีนโลจิสติกส์ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยอาจพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิต เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังจากการใช้งาน โดยใช้หลักการแนวคิดของการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการลดละเลิกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภค ต้องมีจิตสำนึกโดยคำนึงถึงการซื้อสินค้า/บริการ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมานั้นมีการปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น อาหารสำเร็จรูป ทีวี เครื่องเสียง เครื่องเล่นดีวีดี โทรศัพท์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และพัดลม เป็นต้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อถึงกันได้ง่าย ควรมีการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ส่งต่อกันทั้งในรูปแบบข้อความ เสียง และวิดีโอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคคำนึงถึงการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น

 

logoline