svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เพิ่มมูลค่าให้ของไม่ใช้ "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา

04 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แปลงสภาพขยะด้อยค่าให้กลายเป็นเงิน กำไรของคนหัวใจรักษ์โลก Go Green ไปด้วยกันกับเทคนิค "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา หนึ่งในตำราที่ทุกบ้านควรรู้

เราต่างรู้ดีว่า "ปัญหาสิ่งแวดล้อม" ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนทุกครอบครัวเริ่มต้นคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง จากพฤติกรรมปัจจุบันที่คนไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหาร ขยะในชีวิตประจำวัน รวมกับขยะทั่วไป ขยะอันตราย ทำให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและการกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะมีขยะพลาสติกปนเปื้อนที่ไม่ถูกแยกตั้งแต่ต้นทาง และส่วนใหญ่กลายเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดด้วยวิธีการเผา ฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา

เพิ่มมูลค่าให้ของไม่ใช้ "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา

การแยกขยะมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สามารถลดความเสี่ยงจากสารอันตรายหรือไมโครพลาสติกที่มาจากพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ด้านการบริหารจัดการขยะของหน่วยงานภาครัฐ ด้านธุรกิจ ด้านการเงินจากการแยกขยะรีไซเคิลแล้วนำไปขายแหล่งรับซื้อก็สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋า รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงสารพิษอันตรายปนเปื้อนตามแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมได้

ข้อแนะนำในการเริ่มต้นแยกขยะ

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักประเภทของขยะก่อน เพื่อที่จะสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

1.ถังขยะย่อยสลาย (สีเขียว) - สำหรับขยะที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ มูลสัตว์

2.ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) - สำหรับขยะทั่วไป ที่ย่อยสลายได้ยาก นำกลับมาผลิตใหม่ไม่คุ้มทุน และไม่มีพิษ เช่น โฟม ฟอล์ย ถุงพลาสติก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

3.ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) - สำหรับขยะที่นำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แม้ขะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ

4. ถังขยะอันตราย (สีแดง) - สำหรับขยะอันตรายที่มีการปนเปื้อนสารเคมี มีอันตรายต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อม โดยการคัดแยก จะต้องระมัดระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก ชำรุด หรือมีสารเคมีรั่วไหลออกมาได้ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ขวดพลาสติกบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง

เพิ่มมูลค่าให้ของไม่ใช้ "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา

เก็บสะสมขยะอย่างไรไม่ให้เป็นภาระต่อบ้านและโลก

แน่นอนว่าถ้าอยากจะขายขยะรีไซเคิลให้ได้ราคาดี นอกจากการหมั่นเก็บหมั่นแยกเหมือนการเก็บผสมน้อยแล้ว เราอาจจะต้องมีพื้นที่เก็บขยะที่แยกไว้แล้วในบ้านเราจนมีปริมาณมากหน่อยแล้วค่อยนำไปขาย ดังนั้น การแยกและเก็บขยะในบ้านต้องอย่าลืมว่าจะไม่เป็นการสร้างภาระให้กับบ้านหรือสิ่งแวดล้อมด้วย จึงควรทำความสะอาดก่อนเก็บขยะประเภทต่างๆ แยกเก็บไว้ในถุงขยะหรือถังขยะอย่างเหมาะสม ติดป้ายบอกประเภทเอาไว้ เก็บในพื้นที่หรือบริวณที่ปลอดโปร่ง สะอาด สว่าง อากาศถ่ายเท ไม่ขวางทางเดิน ไม่ใกล้แหล่งอาหาร และอย่าเก็บขยะที่เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ หรือเสี่ยงเกิดการรั่วไหลเอาไว้ใกล้ตัวเป็นเวลานาน

อยากรู้ไหม "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา

หลังจากทำการคัดแยกประเภทของขยะแต่ละชนิดแล้ว เราจะพบว่ามีขยะบางประเภทที่สามารถแปลงสภาพกลับมาเป็นเงินได้ โดยขยะที่เราสามารถนำไปขายได้จะมาในรูปแบบของขยะรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น ขยะประเภทกระดาษ พลาสติก แก้ว และโลหะต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการเพิ่มมูลค่าให้ของไม่ใช้ "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา ลองทำตามคำแนะนำดังนี้

1. เลือกขายให้กับร้านรับซื้อที่น่าเชื่อถือ ควรตรวจสอบราคาการรับซื้อของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด 

2.  เก็บรวบรวม ของเก่า หรือขยะ ให้ได้จำนวนมาก แล้วค่อยนำไปขายในครั้งเดียว เพราะจะได้น้ำหนักมากกว่า ชัดเจนกว่า จะมีโอกาสได้เงินที่มากกว่าขายทีละน้อย

3. นำไปขายด้วยตัวเอง เนื่องจากการขายผ่านนายหน้ารับซื้อที่อาจได้ราคาที่ต่ำกว่า 

4. เราควรคัดแยกขยะแต่ละชนิดให้ชัดเจน ทำความสะอาด อาทิ ขวดพลาสติก ควรแกะฉลาก แยกฝาออก หรือถ้าพวกลวดสลิงถ้ามัดมาให้เป็นระเบียบก็จะขายได้ราคาดีกว่าของที่ไม่เป็นระเบียบ

เพิ่มมูลค่าให้ของไม่ใช้ "ขายขยะ" อย่างไรให้ได้ราคา

ขยะรีไซเคิลที่มีการรับซื้อ

กระป๋องเหล็ก : กระป๋องน้ำอัดลม น้ำดื่ม กาแฟ และอื่นๆ ที่ทำจากเหล็ก ต้องนำมาเทของเหลวออกให้หมด หากเป็นไปได้ควรล้างทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง โดยถ้าอยากแยกให้ได้ราคาดีจะต้องแยกห่วงฝาอะลูมิเนียมไว้ขายต่างหาก แนะนำให้หาถุงกระสอบใหญ่ๆ มาใส่กระป๋องไว้จะได้เก็บได้เยอะ

กระดาษ : แยกประเภทเป็นกระดาษลัง เล่ม แผ่น ก่อน จากนั้นค่อยแยกย่อยกระดาษแผ่นออกมาตามเกรดของกระดาษ และสีที่พิมพ์ลงไป ถ้าเป็นไปได้ให้แยกกระดาษ A4 ที่พิมพ์หมึกขาวดำล้วน กับกระดาษ A4 ที่พิมพ์หมึกสีก็อาจจะได้ราคาดีกว่า แนะนำให้เรียงกระดาษแต่ละแบบไว้แล้วค่อยมัดด้วยเชือกฟางเป็นกลุ่มๆ สำหรับหิ้วไปขาย ซึ่งราคารับซื้อขึ้นอยู่กับเกรดของกระดาษ อาทิ กระดาษสี กล่องรองเท้า กล่องผลไม้ กระดาษหนังสือเล่มรวม กระดาษอาร์ตมัน กระดาษ A4 ขาวดำ กระดาษ A4 สี หรือกระดาษหนังสือพิมพ์

 

แก้ว : ขายได้ทั้งแบบขวดและแบบเศษแก้ว โดยแบบขวดต้องเทของเหลวออก ทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง ถ้าที่บ้านมีขวดแก้วหลายแบบและขยันพอ ลองแยกสีแยกประเภทด้วยก็ได้ เช่น ขวดน้ำปลา ขวดเบียร์ ขวดซอส เศษแก้วคละสี เศษแก้วสีขาวล้วน เศษแก้วสี เพราะขายได้ในราคาที่ต่างกัน แนะนำให้เก็บในลังสำหรับใส่ขวดโดยเฉพาะ หรือถ้าไม่มีก็เก็บในถังที่แข็งแรงและไม่ทำให้ขวดแตกหรือไปบาดคนในบ้านได้

พลาสติก : ขยะที่ทุกบ้านน่าจะมีเยอะมากที่สุด เราสามารถแบ่งประเภทของพลาสติกแบบง่ายๆ ด้วยตา คือขวด PET คือขวดน้ำดื่มแบบใส ขวด HDPE คือขวดแข็งแบบขุ่น เช่น ขวดนม ขวดน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ และขวด PVC คือขวดแบบนิ่มและยืดหยุ่นสูง เช่น ขวดน้ำมันพืช โดยก่อนแยกต้องเทของเหลวออก ทำความสะอาดและผึ่งให้แห้งก่อนเช่นกัน นอกจากขวดยังมีถุงพลาสติกและโฟมที่นับเป็นพลาสติกให้แยกขายได้เหมือนกัน

 

E-Waste : ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่แล้ว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน แม้จะไม่ใช่ขยะรีไซเคิลที่เราคุ้นเคย แต่ร้านหรือโรงงานก็รับซื้อเหมือนกัน เพราะบางชิ้นส่วนถ้านำไปแยกต่อก็อาจนำไปรียูสหรือรีไซเคิลได้ แถมถ้าพิจารณาด้วยน้ำหนักแล้วก็อาจจะคุ้มที่จะขาย เช่น ทีวีเก่า จอคอมพิวเตอร์  ปรินเตอร์ คีย์บอร์ด โทรศัพท์มือถือ พัดลม แอร์ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เครื่องกรองอากาศ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า เป็นต้น

อื่นๆ : ขยะบางประเภทที่มีการรับซื้อ อาทิ ยางนอก ยางใน ยางรถยนต์ โฟมสะอาด น้ำมันพืชเก่า

เห็นโอกาสสร้างรายได้เป็นค่าขนมจากแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เพียงการแยกขยะแล้วใช่ไหม ดังนั้น ก่อนทิ้งขยะให้พ้นจากมือลองมองถึงคุณค่าและมูลค่าของสิ่งของนั้นๆ ก่อนปล่อยให้มันเป็นภาระในการกำจัดและเป็นภาระกับโลก

logoline