svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

‘หญ้าหวาน’ ตัวเลือกความหวานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

16 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รักษ์โลก : กินหวานแบบ low sugar - low carbon เลือก “หญ้าหวาน” แทนน้ำตาลทราย งานวิจัยใหม่ชี้แคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าน้ำตาลทรายถึง 29%

ด้วยกระแสสุขภาพที่กลายเป็นกระแสของโลก ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในการเลือกสรรสิ่งที่ช่วยดูแลสุขภาพมากกว่าเดิม หนึ่งในเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ การสรรหาตัวเลือกในสารให้ความหวานที่ทดแทนรสหวานจากน้ำตาลที่เป็นตัวการก่อโรค ซึ่งหากต้องการสารให้ความหวานที่กินแล้วปลอดภัยที่สุด แคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน “หญ้าหวาน” น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดด้วยเหตุผลที่เราจะกล่าวต่อไป

‘หญ้าหวาน’ ตัวเลือกความหวานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับ “หญ้าหวาน” มีชื่อสามัญว่า Stevia (สตีเวีย) ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana (Bertoni) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิล และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองในปารากวัย นำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภคมานานนับศตวรรษแล้ว โดยนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม ชงกับชา และสำหรับต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่น ก็มีการใช้สารสกัดดังกล่าวมานานมากเป็นสิบปี โดยนำไปใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักดอง เนื้อปลาบด เป็นต้น

ในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ. 2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพาะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

‘หญ้าหวาน’ ตัวเลือกความหวานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนที่มาของชื่อ "หญ้าหวาน" ก็เพราะส่วนของใบที่มีรสหวานซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือมีสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวาน ชื่อว่า “สตีวิโอไซด์ (Stevioside)” เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า! และด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และด้านการแพทย์

งานวิจัยเกี่ยวกับ "หญ้าหวาน" ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย

มีงานวิจัยใหม่จาก University of Surrey เมืองกิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจาก “หญ้าหวาน” เป็นที่รู้จักว่าสามารถให้รสชาติหวานในระดับเดียวกับน้ำตาล แต่มีแคลอรีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย 

หญ้าหวานเป็นพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ กล่าวคือใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่า ใช้น้ำน้อยกว่า และใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าอ้อยหรือข้าวโพด โดยสารสกัดจากหญ้าหวานผ่านกระบวนการน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการนำอ้อยไปผ่านกระบวนการการผลิตจนออกมาเป็นน้ำตาลทราย 

ข้อมูลจาก Pure Circle หนึ่งในผู้ผลิตหญ้าหวานรายใหญ่ที่สุด พบว่า กระบวนกการผลิตสารสกัดหญ้าหวานนั้น ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าการผลิตน้ำเชื่อมข้าวโพดถึง 79%, น้อยกว่าการผลิตน้ำตาลหัวบีท 55% และน้อยกว่าการผลิตน้ำตาลทราย 29% ต่อหน่วยความหวาน

‘หญ้าหวาน’ ตัวเลือกความหวานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากบริษัท คาร์กิลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานหลายชนิด พบว่าการทำไร่หญ้าหวานมีคะแนนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลชนิดอื่นๆ ทั้งในแง่ของการใช้ที่ดินทำการเกษตร ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียโอโซน และความเป็นพิษต่อระบบนิเวศ

ทีมนักวิจัยยังระบุอีกว่า การผลิต “สตีวิออลไกลโคไซด์” ที่เป็นสารสกัดจากหญ้าหวานนั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย โดยมีการประเมินด้วยว่าการใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายในครัวเรือน อาจมีส่วนช่วยลดการใช้ที่ดินเกษตรกรรมและการใช้น้ำในวงจรของอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลได้ ซึ่งสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่มีแคลอรีอย่างสตีวิออลไกลโคไซด์ เป็นสารสกัดที่ได้มากจากใบหญ้าหวานสามารถสร้างรสชาติหวานเทียบเคียงของน้ำตาลได้ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 250 เท่า ตัวอย่างเช่น สตีวิออลไกลโคไซด์ 4 กรัมให้ความหวานเทียบเท่ากับน้ำตาล 1,000 กรัม เป็นต้น

ดร.เจมส์ ซัคลิง ผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้ซึ่งทำงานในศูนย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย Surrey กล่าวว่า การใช้สารสกัดสตีวิออลไกลโคไซด์และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน อาจเป็นข่าวดีสำหรับการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาในมิติต่างๆ อีกมาก เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากสตีวิออลไกลโคไซด์ 

 

 

Source : A Sweeter, More Environmentally Friendly Alternative to Sugar / หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์

 

logoline