svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมชาย" รอฟ้อง "ไอลอว์" ปมลอกดุษฎีนิพนธ์-"ไอลอว์" พบแก้แล้วแต่เนื้อหาเดิม

20 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมชาย แสวงการ" เตรียมรวมหลักฐานฟ้อง "ไอลอว์" หลังเปิดปมคัดลอกงานทำดุษฎีนิพนธ์จบปริญญาเอก ขณะที่ "ไอลอว์" พบมีการแก้ไขใหม่ แต่เนื้อหายังคงเดิม

20 เมษายน 2567 จากการที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ "ไอลอว์" ได้มีการออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับดุษฎีนิพนธ์ของ "นายสมชาย แสวงการ" สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เรื่อง "รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา

โดยได้ระบุเนื้อหาหลายจุดมาจากสถาบันพระปกเกล้า รวมถึงงานของไอลอว์ ซึ่งเป็นบทความ "รวมข้อมูล 250 สว. แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช."

ล่าสุด นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงและยืนยันว่าได้ทำงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ "รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย" ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ตนศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ในการเรียนกฎหมายมหาชน ของสถาบันพระปกเกล้า เป็นเอกสารกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง เรื่อง "ระบบรัฐสภาและกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย" และสนใจเรื่องนี้มาโดยตลอด จนมาต่อยอดในการศึกษาปริญญาเอก



 

"ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ได้มีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง สสร.เก่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560 อดีต สส. และ สว. ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง มีการทำ Focus Group นักวิชาการและประชาชน และการวิจัยเชิงปริมาณโดยการใช้แบบสอบถามประชาชนถึง 645 ตัวอย่าง" นายสมชาย กล่าว 

 

ส่วนในบทการทบทวนวรรณกรรม ได้นำรัฐธรรมนูญ 2560 มาวิเคราะห์ร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา และบทความในและต่างประเทศ ซึ่งมีการอ้างอิงและนำมาใช้ในงานวิจัยกันทั่วโลก อันไหนที่เห็นว่าดี เหมาะสม ก็นำข้อมูลมาใส่ ซึ่งในบทการทบทวนวรรณกรรมไม่ใช่บทผลการวิจัย

นายสมชาย กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยอมรับว่าตกหล่นในส่วนของเชิงอรรถและบรรณานุกรม การอ้างอิงที่อยู่ในบทการทบทวนวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยท่านหนึ่งของสถาบันแห่งหนึ่ง และได้มีการแก้ไขแล้ว ดั้งนั้น สิ่งที่ไอลอว์เขียนนั้นถือว่าบิดเบือน

นายสมชาย กล่าวย้ำว่า ส่วนที่ถูกอ้างถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการวิจัยของตนแต่อย่างใด แต่อยู่ในส่วนของการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ซึ่งเป็นหลักการทำวิจัยทั่วไปที่จะมีบทการทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศของงานวิจัยที่น่าสนใจสอดคล้องกับสิ่งที่จะทำวิจัย

 

"เรายกย่องจึงได้นำข้อมูลมาทบทวนแล้วอ้างอิงแหล่งที่มาในรูปแบบเชิงอรรถและบรรณานุกรม โดยในเล่มนี้มีการอ้างอิงมาตลอด แต่มีเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสองเล่ม ที่เขียนจากท่านเดียวกัน ซึ่งผมได้อ้างอิงไว้แล้วหนึ่งเล่ม จึงทำให้เกิดการตกหล่น เป็นความผิดพลาดทางเอกสารที่ผมยอมรับ ได้มีการขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อแก้ไข และได้รับการอนุมัติให้แก้ไขให้ครบถ้วนแล้ว สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของห้องสมุดธรรมศาสตร์" นายสมชาย ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม การที่ไอลอว์นำเสนอ จึงถือเป็นการให้ข้อมูลอันทำให้เกิดการเข้าใจผิด หรือเป็นข้อมูลเท็จ ทำให้ตนเสียหาย ระหว่างนี้กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐาน เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่

ขณะเดียวกัน วันนี้ (20เม.ย.) ไอลอว์ยังได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อผ่านทางเว็บไซต์ โดยระบุว่า จากการตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ฉบับแก้ไขเร็วด่วนของสมชาย ซึ่งดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. ในวันเดียวกัน 

พบว่า มีการเพิ่มเชิงอรรถ (footnote) โดยใช้เครื่องหมายดอกจัน (*) ที่หัวข้อของเนื้อหาที่มีการคัดลอกมา โดยเฉพาะส่วนที่มาจากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า โดย ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุช ตั้งถาวร เรื่อง "รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย" 

นอกจากนี้ ยังพบว่าเนื้อหายังคงเหมือนเดิม โดยข้อความในหน้า 38-64  (ในฉบับแก้ไขเลื่อนมาเป็นหน้า 65) ตรงกับหน้า 76-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้าเช่นเดิม ด้านข้อความส่วนอื่นที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นโดยใส่เชิงอรรถให้ ซึ่งรวมถึงที่มาจากไอลอว์ด้วยนั้น ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด  

อีกทั้ง การแก้ไขนี้ก็ไม่ได้เพิ่มข้อความหรือใบปะหน้า ที่ทำให้ผู้อ่านทราบได้ว่าอย่างชัดเจนว่า ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีการแก้ไขที่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่เผยแพร่ครั้งแรก


 

logoline