svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ผ่าหัวใจ Upcycling เปลี่ยนโฉมของเก่าไม่ใช้แล้ว เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์

15 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนมารู้จักคำว่า “Upcycling” แปลงร่างสิ่งของให้มีค่ามากกว่าถูกลืม พร้อมเข้าใจความต่างของ Upcycling - Recycling - Reuse จุดเริ่มต้นของคนคิดอยากเปลี่ยนแปลงโลก

บนโลกนี้มีขยะและสิ่งของเหลือใช้มากมาย หากไม่จัดการให้ถูกวิธี โลกที่เราอยู่อาศัยก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีวิธีแปรรูปขยะที่หลากหลาย แต่การ "Upcycling" ถือเป็นวิธีรักษ์โลกแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การสร้างคุณค่าให้ของเหลือใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาสร้างมูลค่ามหาศาลในแง่แฟชั่นและโลกธุรกิจ สำหรับคนที่ต้องการนำไอเดีย Upcycling มาต่อยอดจึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่เราจะได้เป็นหนึ่งในคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

ผ่าหัวใจ Upcycling เปลี่ยนโฉมของเก่าไม่ใช้แล้ว เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์

ย้อนรอยที่มาของคำว่า “Upcycling”

สำหรับวาทกรรมแห่งความยั่งยืน คำนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things ซึ่งเขียนโดย William McDonough  โดยในตอนแรกเริ่มนั้นยังไม่ได้เป็นคำที่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบัน Upcycling ได้รับการกล่าวถึงในแทบทุกแวดวง ไม่จำกัดเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งคำว่า Upcycling หมายถึงกระบวนการในการแปลงสภาพของวัสดุ หรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกแล้วเพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม หรือกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

รู้จัก “Upcycling” ให้มากขึ้น

Upcycling หรือ Upcycle มาจากคำว่า "Upgrade" ที่หมายถึงการทำให้ดีขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น รวมกับคำว่า "Recycling/Cycle" ที่หมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง เมื่อรวมแล้วหมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของที่จะถูกทิ้งเป็นขยะมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นและกลับมาใช้ประโยชน์ได้ หรือออกแบบให้มีความสวยงามเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ทำให้คุณภาพและส่วนประกอบของวัสดุนั้นลดลง ทั้งนี้ จะไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรมและไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีที่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้เคมีน้อยที่สุด การ Upcycling จึงเป็นวิธีที่ดีในการลดขยะและนำไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น

และแม้ความหมายของคำว่า Upcycle อาจจะดูคล้ายกับคำที่เราคุ้นเคยอย่าง “Recycle” เพราะเป็นรูปแบบการจัดการขยะที่มีฐานคิดเดียวกัน ที่เป็นการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่นำทรัพยากรมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อใช้งาน และเมื่อหมดประโยชน์ก็ทิ้งไปกลายเป็นขยะ มาเป็นระบบการวางแผนและออกแบบการผลิตเพื่อคืนสภาพให้กับวัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แทนการทิ้ง โดยเป็นการนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนขยะให้กลับมาวนใช้ได้อย่างไม่รู้จบ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของ Recycle กับ Upcycle แล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่

ผ่าหัวใจ Upcycling เปลี่ยนโฉมของเก่าไม่ใช้แล้ว เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์

ข้อดีของการ Upcycle

  1. ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม : Upcycling เป็นการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งช่วยลดของเสียและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการผลิต การนำวัสดุเก่ามาใช้ใหม่ช่วยประหยัดทรัพยากรและลดความจำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่
  2. ความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว : Upcycling ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยอนุญาตให้ผู้คนปรับแต่งและสร้างสิ่งของที่ไม่ซ้ำใครซึ่งสะท้อนถึงสไตล์และรสนิยมของพวกเขา
  3. ประหยัดค่าใช้จ่าย : การอัพไซเคิลช่วยประหยัดเงินโดยการนำวัสดุที่อาจถูกทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เป็นวิธีที่ประหยัดในการหาสิ่งของใหม่ๆ
  4. ประโยชน์ต่อสังคม : การอัพไซเคิลยังมีประโยชน์ต่อสังคมด้วยการให้โอกาสในการจ้างงานและสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน

ข้อเสียของการ Upcycle

  1. ใช้เวลานาน : การอัพไซเคิลอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ซึ่งต้องมีการวางแผน การเตรียมการ และทักษะ อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีตารางงานยุ่งหรือมีเวลาจำกัด
  2. ความพร้อมใช้งานที่จำกัด: การค้นหาวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการอัพไซเคิลอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังมองหาสิ่งของหรือวัสดุที่เฉพาะเจาะจง
  3. ข้อกังวลด้านคุณภาพ : คุณภาพของสินค้าอัพไซเคิลอาจไม่สูงเท่าสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่ อาจเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งของที่นำกลับมาใช้ใหม่นั้นปลอดภัยและทนทาน
  4. ความดึงดูดที่จำกัด: การอัพไซเคิลอาจไม่ดึงดูดรสนิยมหรือสไตล์ของทุกคน ซึ่งเป็นการจำกัดความดึงดูดของตลาด

หากกล่าวโดยสรุป การอัพไซเคิลมีประโยชน์หลายประการ รวมถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดต้นทุน ตลอดจนประโยชน์ต่อสังคมและปัจเจกบุคคล อย่างไรก็ตาม อาจใช้เวลานานและต้องใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งคุณภาพและความพร้อมใช้งานของวัสดุอาจมีข้อจำกัด

ผ่าหัวใจ Upcycling เปลี่ยนโฉมของเก่าไม่ใช้แล้ว เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์

Sacoche Bag : From Trash to Treasure Bangkok (ftttbkk) แบรนด์ที่เลือกชุบชีวิตเสื้อผ้าเก่า โดยดัดแปลงอย่างมีสไตล์จนกลายเป็นของชิ้นใหม่ที่ใครเห็นเป็นต้องสะดุดตา 

 

Upcycling - Recycling - Reuse แตกต่างกันอย่างไร

Upcycling คือการนำขยะหรือของเหลือใช้มาตัดแต่งและใส่ไอเดียสร้างสรรค์ลงไปโดยยังคงคงสภาพเดิมให้เห็นอยู่ ไม่ได้แปรรูปเป็นของชิ้นใหม่เหมือน Recycling เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ของชิ้นนั้นมากขึ้น มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้

Recycling คือการนำขยะหรือของเหลือใช้นั้นๆ ไปเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นของชิ้นใหม่ เช่น การหลอมขวดพลาสติก ขวดแก้ว หรือกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการตัดแต่งรูปทรงเพื่อให้ของชิ้นนั้นสามารถใช้งานในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การนำขวดไวน์มาตัดทำเป็นแก้ว

Reuse คือการใช้ของชิ้นนั้นซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด จะไม่มีแปรรูปเหมือนกับรีไซเคิล หรืออาจจะมีปรับแต่งเล็กน้อยเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม เช่น การนำกระป๋องอลูมิเนียมมาทำเป็นที่ใส่ดินสอหรือกระถางต้นไม้

ผ่าหัวใจ Upcycling เปลี่ยนโฉมของเก่าไม่ใช้แล้ว เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์

แม้การ Upcycling จะช่วยชุบชีวิต ยืดอายุของสิ่งของเหลือใช้ ไม่ให้กลายเป็นขยะ เพื่อให้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเปรียบเสมือนช่วยต่อลมหายใจให้สิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิต แต่ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะหากยังมีวัสดุให้ Upcycle  นั่นก็หมายความว่า ยังมีผลิตภัณฑ์ที่รอการเป็นขยะอยู่ในวงจรการบริโภคของเรา สิ่งที่ดีที่สุดคือลดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม โดยหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เมื่อกลายเป็นขยะแล้วสามารถส่งคืนกลับสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม นั่นจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

logoline