svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ต้องรีบทำ! ชาวบ้านเชียงราย ประกาศเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" แห่งแรกในแม่น้ำอิง

15 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมบัติชาติเพื่อลูกหลาน! สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนบ้านร้องหัวฝายเชียงราย ประกาศเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" ป่าต้นน้ำห้วยป่าปู แห่งแรกในแม่น้ำอิง

15 มีนาคม 2566 ที่ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ที่ 12 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ ได้ประกาศเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" ป่าต้นน้ำห้วยป่าปู ต้นน้ำแม่น้ำอิงตอนปลาย เพื่อเป็นพื้นที่บ้านปลอดภัยของ "เต่าปูลู" แห่งแรกในแม่น้ำอิง 

สืบเนื่องจากในปี 65 ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับชุมชนในลุ่มน้ำอิง 7 ชุมชน ทำการศึกษางานวิจัยชาวบ้าน ถึง แนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัย "เต่าปูลู" ซึ่งพบว่า "เต่าปูลู" หรือ "เต่าปากนกแก้ว (Siamese Big-headed)" ที่พบได้ตามป่าต้นน้ำสาขาแม่น้ำอิง ทั้งจากการตรวจ eDNA และการพบตัวของชาวบ้าน "เต่าปูลู" ยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์  
ต้องรีบทำ! ชาวบ้านเชียงราย ประกาศเขตอนุรักษ์ \"เต่าปูลู\" แห่งแรกในแม่น้ำอิง
 

จากงานวิจัยพบว่า ในอดีตมี "เต่าปูลู" อาศัยอยู่อย่างชุกชุมในป่าต้นน้ำ ที่มีลักษณะเป็นธารน้ำตก แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลง ภัยคุกคามหลัก คือเรื่องของการล่าเพื่อส่งออก , ปัญหาไฟป่า ที่เผาพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่มีเพียงจำกัด เฉพาะป่าต้นน้ำ จึงได้หาแนวทางอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของ "เต่าปูลู" เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเต่า ได้นำร่องจัดทำบ้านเต่าปลอดภัย ประกาศเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" ในป่าต้นน้ำห้วยป่าปู ป่าต้นน้ำสาขาของลำห้วยซ้อ

นายไหว เพ็ชรหาญ ผู้ใหญ่บ้านร้องหัวฝาย กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่ได้มาร่วมกับชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ที่ 12 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ ลำห้วยที่ชุมชนเราอนุรักษ์เรียกว่า "ห้วยป่าปู" เป็นเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" เพื่อให้ชุมชนเรามาช่วยกันดูแล โดยเฉพาะชุด ชรบ.เป็นคณะทำงานเข้ามาดูแล 
"เต่าปูลู" หรือ "เต่าปากนกแก้ว (Siamese Big-headed)"

นายสิงห์ทอง แก้วระกา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร้องหัวฝาย กล่าวว่า ทางคณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับคณะ ชรบ.ได้มาทำการประกาศเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" ในพื้นที่ชุมชน ที่ผ่านมามีการล่า "เต่าปูลู" ทางหมู่บ้านจึงได้ทำแนวเขตป่าชุมชน รวมถึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล รวมถึงได้ขอมติที่ประชาคมหมู่บ้าน ห้ามมีการล่า "เต่าปูลู" ให้มีการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน 

ที่ผ่านก็ได้มีการณรงค์ และประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และประสานผู้นำชุมชน เพราะชุมชนบ้านห้วยซ้อ จะมีอยู่ 6 หมู่บ้าน วันนี้หมู่ 12 บ้านร้องหัวฝาย ได้นำร่องในการอนุรักษ์ ซึ่งแนวทาง ได้มีการทำแนวกันไฟ เพราะว่า "เต่าปูลู" จะวางไข่ริมน้ำ หรือขอบเขตริมฝั่งที่พ้นน้ำ จะทำให้ไฟไหม้ไข่เต่าปูลูได้

ส่วนในฤดูแล้ง ทางคณะกรรมการก็จะมีการลาดตระเวน ตามแนวเขตป่า ไม่ให้ใครมาล่า "เต่าปูลู" และช่วงนี้เราก็มีการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้ "เต่าปูลู" มีน้ำในการหล่อเลี้ยง พร้อมกำหนดเขตอนุรักษ์ "เต่าปูลู" ด้วยการการปักป้ายไว้ 
ต้องรีบทำ! ชาวบ้านเชียงราย ประกาศเขตอนุรักษ์ \"เต่าปูลู\" แห่งแรกในแม่น้ำอิง  

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์ แหล่งที่อยู่อาศัย "เต่าปูลู" โดยชุมชนว่า จากปัญหาภัยคุกคามหลักที่มีอยู่คือ การล่า , ไฟป่า , พื้นที่อยู่อาศัยลดลง ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับชุมชน ศึกษางานวิจัยชาวบ้าน จนได้แนวทางการอนุรักษ์ "เต่าปูลู" เพราะแม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ปัญหาการล่าก็ยังมีอยู่ในพื้นที่

การแก้ไขปัญหา ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน คอยเป็นหูเป็นตาในการอนุรักษ์ "เต่าปูลู" รวมถึงได้จัดทำข้อเสนอจากการศึกษา แนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัย "เต่าปูลู" โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 10 ข้อดังนี้

1) จัดตั้งคณะทำงาน ทำหน้าที่ในการดูแล "เต่าปูลู" หรือกรรมการป่าชุมชน สำหรับชุมชนที่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการมาก่อน

2) มติชุมชนเพิ่มเรื่องการห้ามล่า "เต่าปูลู" เพิ่มเข้าไปยังกฎของหมู่บ้าน โดยการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อรับรองเพิ่มเติม

3) รณรงค์เรื่องการห้ามล่า "เต่าปูลู" โดยการทำป้ายติดตามจุดสำคัญในป่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย  ประสานงานชุมชนใกล้เคียง เรื่องการขอความร่วมมือห้ามล่า "เต่าปูลู" ในห้วยม่วงชุม หากละเมิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4) กำหนดพื้นที่ห้ามล่า "เต่าปูลู" ในชุมชน กันเขตพื้นที่เป็นแหล่งอนุรักษ์บ้านเต่าปูลู โดยใช้พื้นที่ป่าชุมชนเดิม ที่ทำการอนุรักษ์อยู่แล้ว หรือจะกำหนดพื้นที่ขึ้นมาใหม่ แล้วแต่ความเหมาะสม ของแต่ละชุมชน

5) จัดกิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่อาศัย "เต่าปูลู" เช่น ทำแนวกันไฟ ฝายน้ำล้น ลาดตระเวนสอดส่อง ทำพิธีสืบชะตา/บวชป่า ลำห้วย หรือเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่เต่าปูลู และเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น
"เต่าปูลู" หรือ "เต่าปากนกแก้ว (Siamese Big-headed)"  

6) ประชาสัมพันธ์ รณรงค์กฎหมู่บ้านเรื่องการห้ามล่า "เต่าปูลู" ให้กับชุมชนใกล้เคียง บุคคลภายนอก หรือคนในชุมชน ห้ามล่าเต่าปูลูโดยเด็ดขาด หรือให้ทางคณะกรรมการ ไปบอกโดยตรงกับคนต่างถิ่น ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ

7) จัดตั้งกองทุน “บ้านเต่าปูลู” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมคณะทำงาน ในการทำการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เช่นฝายชะลอน้ำ แนวกันไฟ ลาดตระเวนตรวจตรา เป็นต้นให้กับชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง เพื่อทำกิจกรรมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เต่าปูลู

8) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับตำบล หรือระดับลุ่มน้ำ โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือ สภาประชาชนแม่น้ำอิง เป็นพื้นที่ผลักดันให้เต่าปูลู เป็นวาระของชุมชน ในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู

9) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ในการอนุรักษ์ แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยชุมชน รวมถึงความร่วมมือกับนักวิชาการในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งอาศัยเต่าปูลู ให้ครอบคลุมทุกชุมชน และขยายแนวคิดสู่ลุ่มน้ำใกล้เคียง

10) ให้สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ระดมทุน เพื่อสนับสนุนกองทุนบ้านเต่าปูลูให้กับชุมชน เพื่อทำกิจกรรมขับเคลื่อนการอนุรักษ์ แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้ชื่อ “กองทุนบ้านเต่าปูลู”
ต้องรีบทำ! ชาวบ้านเชียงราย ประกาศเขตอนุรักษ์ \"เต่าปูลู\" แห่งแรกในแม่น้ำอิง
 

logoline